| home | พุดตานกถา | แก้ปัญหาได้ก็หายเครียด | แบบประเมินความเครียด | ปรากฎการณ์มหัศจรรย ์| ผู้รู้แห่งธิเบต |
| พระพุทธศาสนา (ตอนที่๒๑) | สมาธิเพื่อสุขภาพ | แนวทางเจริญวิปัสสนา | ธรรมะในมิลินทปัญหา | รายนามผู้บริจาค |

 

 
 

 
 

หมวดทุติยวรรค ว่าด้วยเมณฑกปัญหา ( ปัญหามืด ๒ ด้าน )

ปัญหาที่ ๕ ว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตแต่ไม่ได้อาหารเลย

            พระเจ้ามิลินท์ตรัสถาม มีใจความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยตรัสไว้เสมอ ๆ ว่าพระองค์เป็นผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยปัจจัย ๔ คือ อาหาร บิณฑบาต จีวร เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคแต่มีอยู่คราวหนึ่งที่พระองค์เสด็จไปบิณฑบาตใน หมู่บ้านปัญจสาลคาม ( ฉบับอังกฤษของสมาคม บาลีปกรณ์แปลว่า หมู่บ้านต้นสาละทั้ง ๕ ) แต่ไม่ได้ภัตตาหารแม้แต่นิดเดียว เสด็จกลับด้วยบาตรเปล่า เรื่องราวทั้ง ๒ เรื่องนี้ดูขัดกันอยู่ ถ้าข้อความ แรกถูก ข้อความหลังต้องผิด ถ้าข้อความหลังถูก ข้อความแรกต้องผิด

            ปัญหานี้ฟังดูหนักหนาสาหัสเอาการอยู่ ถ้าเรา ๆ ท่าน ๆ เผชิญปัญหานี้ ก็คงอึดอัดหาคำตอบยากเหมือนกัน แต่ขอให้เราฟังดูว่า พระนาคเสน ตอบอย่างไร

            พระนาคเสนถวายพระพรตอบมีใจความว่า เหตุที่ชาวบ้านปัญจสาลคามมิได้ ใส่บาตรแก่พระพุทธองค์นั้น เพราะพญามารเข้าปิดบังจิตใจไว้

            พระเจ้ามิลินท์ทรงตรัสต่อไปว่า พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีมานับแสนกัลป์ ย่อมจะมีกำลังฝ่ายกุศลอันยิ่งใหญ่ ส่วนพญามาร เป็นฝ่ายคนบาป หยาบช้า เต็มไปด้วย บาปอกุศล ถ้าพญามารมาหักห้ามมิให้ชาวบ้านปัญจสาลคามใส่บาตรแก่พระพุทธองค์ ได้ ก็แสดงว่า ฝ่ายอกุศลเอาชนะฝ่ายกุศลได้ พญามารเอาชนะพระพุทธเจ้าได้ละซิ เพราะทำให้พระพุทธองค์ต้องอดพระกระยาหาร

            พระนาคเสนทูลตอบด้วยการให้อุปมาประกอบว่า พระพุทธองค์มิได้ ขาดแคลนอาหารบิณฑบาตแต่อย่างไร อาจจะขาดไปนิดหน่อย เป็นครั้งคราว และเป็นบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น เปรียบเหมือนบุรุษคนหนึ่งนำเครื่องบรรณาการ เช่น น้ำผึ้ง เป็นต้น มาถวายแก่พระเจ้าจักรพรรดิ์ พอมาถึงประตูพระราชวัง กลับถูก นายประตูห้ามมิให้เข้าสู่พระราชวัง และถูกไล่ให้กลับไปเสียโดยขู่ว่าถ้าไม่รีบไป จะได้รับพระราชอาชญา ชายคนนั้นกลัวจึงรีบมาเอาเครื่องบรรณาการกลับไป ถ้าอย่างนั้น เราจะถือว่า นายประตูนั้นมีอำนาจวาสนาบุญญาธิการยิ่งใหญ่กว่า พระเจ้าจักรพรรดิ์ ได้หรือไม่ จะถือว่าพระเจ้าจักรพรรดิ์ทรงขาดแคลนปัจจัยลาภ ครั้งสำคัญได้หรือไม่

            พระเจ้ามิลินท์จำเป็นต้องยอมรับในเรื่องนี้ว่า ไม่ได้ นายประตูจะยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้าจักรพรรดิ์ไม่ได้ และพระเจ้าจักรพรรดิ์จะทรง สูญเสีย ลาภผลครั้งยิ่งใหญ่ ก็หามิได้ เพราะยังมีเครื่องบรรณาการอื่นอีกนับหมื่นที่คนนำมาถวายโดยทางประตู อื่น ๆ

            พระนาคเสนให้เหตุผลเสริมคำตอบของท่านต่อไปว่า แม้ว่าคราวนั้น พระพุทธองค์จะไม่ได้ภัตตาหารจากมือของมนุษย์ แต่ก็มีเทวดานับจำนวน แสน ได้มาถวายทิพยโอชา โดยการชำแรกอาหารทิพย์เข้าไปในพระวรกายของพระองค์ ทำให้พระองค์อิ่มหนำสำราญเป็นปกติ

            แม้พระนาคเสนจะนำเอาทิพยโอชาจากเทวดามาอ้าง พระเจ้ามิลินท์ ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่พอพระทัย ทรงโต้แย้งต่อไปด้วยเหตุผลอันคมคายว่า ถึงแม้ พระพุทธองค์จะมิได้อดพระกระยาหาร แต่อย่างน้อยที่สุดก็แสดงว่า พญามาร ทำงานได้สำเร็จ สามารถประทุษภัยพระบรมศาสดาได้ ด้วยการ ดลใจมิให้ชาวบ้าน ปัญจสาลคามเห็นพระองค์ แสดงว่าพญามารเอาชนะพระพุทธองค์ได้ในคราวนั้น พระพุทธองค์ผู้ทรงพุทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ ไม่น่าจะเสียท่าเสียทีแก่พญามารง่ายๆ เช่นนั้นพญามารไม่น่าจะทำอันตรายแก่พระองค์ได้ไม่น่าจะขัดขวางภัตตาหารของพระพุทธองค์ได้

            แต่ละประเด็นที่พระเจ้ามิลินท์ทรงนำมาโต้แย้งนั้นรู้สึกว่าลึกซึ้งและคมคาย เอาการอยู่ สมกับการที่พระองค์นั้นเป็นปราชญ์เชื้อสายกรีกจริง ๆ ถ้าไม่ใช่ นักปราชญ์แบบพระนาคเสนก็อาจจะจนมุมได้ง่าย ๆ เหมือนกัน ลองดูว่า พระนาคเสนหาทางออกอย่างไร

            พระนาคเสนทูลตอบโดยการแสดงอันตรายที่จะพึงเกิดแก่ลาภผล ๔ ประการด้วยกัน คือ

         ๑ . อทิฏฐันตราย คืออันตรายที่บุคคลกระทำแก่ลาภที่ยังไม่เห็น คือ ยังไม่เกิดขึ้น เช่นชาวบ้านยังไม่ได้ตกแต่งไทยทานไว้เลย ยังไม่คิดจะ ถวายแก่ใคร คนที่จะรับก็ยังไม่มี หรือถ้ามีก็มองไม่เห็นเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง

            ในกรณีของชาวบ้านปัญจสาลคามนั้น จัดเป็นอทิฎฐันตราย เพราะชาวบ้าน ยังไม่ได้เตรียมภัตตาหาร ยังไม่ได้คิดจะให้แก่ใคร ใครก็ตามนักบวช ศาสนาใดก็ตาม ถ้าเข้ามาในหมู่บ้านนั้น ก็อุ้มบาตรเปล่ากลับไปเหมือนกัน แต่ชาวบ้านมิได้เป็นฝ่ายผิด ความผิดตกอยู่กับพญามารใจบาป แต่ตอนนั้นอาจจะยังไม่ได้รับโทษ เปรียบเหมือนโจร ที่ปล้นฆ่าประชาชนอยู่ในชนบทชายแดนอันห่างไกล จึงยังไม่ถูกจับมาสำเร็จโทษ

         ๒ . อุททิสสันตราย ( ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นอุททิสสกตันตราย ) คืออันตรายที่กระทำต่อภัตตาหารที่เขาเตรียมไว้แล้วเพื่อถวายแก่ บุคคลใด บุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ยังไม่ได้ถวายถูกขัดขวางเสียก่อน

         ๓ . อุปักขตันตราย คือการเข้าไปทำอันตราย หรือไปขัดขวางต่อภัตตาหาร ที่เขาเตรียมไว้อย่างดีแล้ว มีผู้รับโดยเฉพาะแล้ว ยกมาตั้งไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ยกประเคน

         ๔ . ปริโภคันตราย คือ การเข้าไปทำอันตราย หรือขัดขวางมิให้มีการบริโภค ภัตตาหารที่เขายกประเคนแล้ว

            พระนาคเสนยืนยันว่า บุคคลใจบาปหยาบช้าสามารถกระทำได้แต่เพียง อทิฎฐันตราย แก่ลาภผลของพระบรมศาสดาเท่านั้น แต่ไม่สามารถจะ กระทำอันตราย ๓ แบบหลังได้เลย ถ้าใครขืนทำศีรษะของผู้นั้นจะแตกออกเป็น ๗ เสี่ยงทันที

            พระนาคเสนยังได้ถวายความรู้ต่อไปอีกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง มีพระคุณลักษณะ ๔ ประการที่ไม่มีใครในภพทั้ง ๓ จะทำลายได้ เรียกว่า อนาวรณิยฐานะ คือ

         ๑ . ลาโภ ได้แก่ปัจจัยลาภใด ๆ เตรียมถวายเฉพาะพระองค์ แม้จะยัง มิได้ยกประเคนก็ตาม

         ๒ . พยามปฺปภา ได้แก่ พระรัศมีที่เปล่งออกจากพระวรกายข้างละ ๑ วา

         ๓ . ญาณรตนํ ได้แก่แก้ว คือ ความรู้อันประเสริฐ

         ๔ . ชีวิตํ ได้แก่ พระชนม์ชีพของพระองค์

            ผลปรากฏว่า พระเจ้ามิลินท์พอพระทัยในคำตอบชี้แจงของพระนาคเสน

ปัญหาที่ ๖ ว่าด้วยเรื่อง คำสอนที่ก่อให้เกิดพิษภัยแก่ผู้ฟัง

            พระเจ้ามิลินท์ ตรัสถามมีใจความว่า พระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า พระองค์ ทรงแสดงแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ฟังเท่านั้น ไม่ทรง แสดงสิ่งที่ก่อให้ เกิดทุกข์โทษแก่ผู้อื่นเลย แต่มีอยู่คราวหนึ่ง พระองค์ทรงแสดงคำสอนที่เปรียบ ด้วยกองไฟ ที่เรียกว่า อัคคิขันธูปมสูตร ทำให้ พระภิกษุ ๖๐ รูปอาเจียนออกมา เป็นโลหิตอุ่น ๆ ประสบความพินาศ ข้อความทั้ง ๒ นี้ขัดแย้งกันอยู่

            ปัญหาที่ ๖ นี้ก็หนักไม่แพ้ปัญหาที่ ๕ เหมือนกัน ขอให้เราลองดูว่า พระนาคเสนจะออกจากมุมอับได้อย่างไร ท่านทูลตอบว่าเรื่องทั้ง ๒ ไม่ขัด กันเลย ถูกต้องทั้ง ๒ กรณี การที่พระภิกษุ ๖๐ รูปอาเจียนออกมาเป็นโลหิตอุ่นนั้น หาได้เกิดจากการกระทำของพระพุทธองค์ไม่ แต่เกิดจากการกระทำ ของตนเอง

            พระเจ้ามิลินท์ยังทรงมองเห็นช่องว่างในคำตอบจึงรุกต่อไปว่า พระภิกษุ ๖๐ รูปนั้นประสบภัยพิบัติเพราะการกระทำของพระพุทธองค์อย่าง แน่นอน เนื่องจากว่าพระภิกษุเหล่านั้นได้ฟังคำสอนของพระศาสดาจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าไม่ได้ฟังคำสอนก็คงจะอยู่เป็นปกติเหมือนที่เคยอยู่มา

            พระนาคเสนยังยืนยันว่า ภิกษุเหล่านั้นประสบภัยพิบัติเพราะการกระทำ ของตนเอง เนื่องจากภิกษุทั้ง ๖๐ รูปนั้นล้วนเป็นพระทุศีล ล่วงละเมิด พระวินัยร้ายแรง ถึงขั้นปาราชิก เมื่อได้ฟังพระโอวาทของพระบรมศาสดาจึงเกิดความร้อนรุ่มเสียใจ กลัวภัยขึ้นมาในใจและในกาย จนอาเจียนออกมา เป็นโลหิตอุ่นเพราะกรรมชั่วของ ตนเอง หาใช่เพราะการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ ถ้าเป็นเพราะการแสดง ธรรมของพระพุทธเจ้า ภิกษุอื่น ๆ ทั้งหมดที่ร่วมฟังธรรมในวันนั้นก็น่าจะอาเจียนออกมา เป็นโลหิตอุ่นเหมือนกันหมด แต่การณ์หาได้เป็นเช่นนั้น พระภิกษุรูปอื่น ๆ ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อได้ฟังพระสูตรเดียวดันนั้นแล้ว ได้บรรลุมรรคมรรคผลเป็น พระอรหันต์ก็มี เป็นพระอนาคามีก็มี เป็นพระสกิทาคามีก็มี เป็นพระโสตาบันก็มี

            พระเจ้ามิลินท์ยังทรงยืนยันต่อไปว่า ถึงอย่างไรพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ ยังคงเป็นตัวการสำคัญที่เป็นเหตุให้ภิกษุ ๖๐ รูปนั้นประสบความพินาศ อยู่ดี ถึงพระองค์จะไม่มีเจตนาร้ายก็ตาม เปรียบเหมือนงูตัวหนึ่งเลื้อยเข้าไปอยู่ในจอมปลวก ต่อมามีบุรุษคนหนึ่งมาขุดเอาดินที่จอมปลวกนั้นไปทำ ประโยชน์ บังเอิญดินไป ปิดรูที่งูอยู่ไว้อย่างหนาแน่น ทำให้งูออกมาไม่ได้ ในที่สุดงูก็ตายอยู่ในรูนั้น บุรุษผู้นั้นย่อมมีส่วนอย่างสำคัญในการทำ ให้งูนั้น ตายฉันนั้น พระบรมศาสดา ก็มีส่วนอย่างสำคัญในความพินาศของภิกษุ ๖๐ รูปนั้นฉันนั้น

            ข้อโต้แย้งพร้อมด้วยอุปมาอุปมัยที่เหมาะเจาะของพระเจ้ามิลินท์ คงจะทำ ให้พระนาคเสนลำบากใจอยู่บ้าง ท่านคงคิดว่า ถ้าจะโต้กันต่อไป ในประเด็นที่ว ่า พระพุทธองค์ทรงมีส่วนหรือไม่มีส่วนในความพินาศของภิกษุ ๖๐ รูปนั้น เรื่องไม่จบง่าย ๆ แน่ เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ภิกษุ ๖๐ รูปก็รากเลือดตาย เพราะได้ฟังคำสอนเรื่อง อัคคิขันธูปมสูตร อยู่ดี ด้วยเหตุนี้พระนาคเสนจึงหาทางออก แบบยอมรับว่า พระองค์มีส่วนก็จริง แต่ปัจจัย สำคัญที่ทำให้ภิกษุเหล่านั้นพินาศ อยู่ที่ความชั่วร้ายของภิกษุเหล่านั้นเอง

            พระนาคเสนชี้แจ้งว่า พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมไปตามความเป็นจริง ด้วยพระทัพเป็นกลาง ไม่รักใคร ไม่ชังใคร คนดีฟังแล้วได้ ประโยชน์เอง คนชั่วฟังแล้วได้โทษเอง ท่านได้ให้อุปมาที่เหมาะสมไว้หลายข้อดังต่อไปนี้

            บุรุษคนหนึ่งจับต้นมะม่วง ชมพู่ มะทราง เป็นต้นให้มั่นคงแล้วสั่น ต้นไม้อย่างแรง ในบรรดาผลของต้นไม้เหล่านั้น ผลเหล่าใดมีก้านขั้วแข็งแรง
ไม่มีแมลงกัดเจาะ ผลเหล่านั้นก็ยังคงอยู่กับต้น ผลเหล่าใดมีต้นขั้วอ่อนแอ มีแมลงเจาะไช ผลเหล่านั้นจะหลุดร่วงลงสู่พื้น ข้อนี้ฉันใด เมื่อพระบรมศาสดา
ทรงแสดงธรรม ผู้มีคุณธรรมสูง ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมเจริญรุ่งเรืองอยู่ ในพระพุทธศาสนา ส่วนผู้ไร้คุณธรรม ล่วงละเมิดฝ่าฝืน ย่อมตกไปฉันนั้น

            อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนชาวนาไถนาเพื่อปลูกข้าวให้เจริญงอกงาม ขณะที่ไถไปนั้นหญ้าที่ไม่เป็นที่ต้องการทั้งหลายย่อมถูกทำลาย ไปเป็นธรรมดา ถ้าชาวนามัวเสียดายหญ้าอยู่ ก็ย่อมไม่มีโอกาสได้ข้าวไว้กินเลี้ยงชีพ

            อีกประการหนึ่งเหมือนช่างไม้ต้องการไม้ที่ตรงเพื่อนำไปก่อสร้างบ้านเรือน ขณะที่ถากไม้ให้ตรงนั้น ก็ต้องยอมถากไม้ส่วนที่คดทิ้งเสียบ้าง มิฉะนั้นก็จะไม่มี ทางได้ไม้ตรง

            อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำอ้อยไว้บริโภคจึงใส่อ้อยดิบ เข้าไปในเครื่องหีบ แน่นอนที่สุด ภายในลำอ้อยนั้นย่อมจะมีตัวหนอน ตัวด้วง ไข่แมลงต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นอันมาก และจะต้องตายไปในเครื่องหีบอ้อยนั้น ถ้าบุรุษคนนั้นมัวเป็นห่วงต่อตัวด้วงตัวหนอนเหล่านั้นอยู่ เขาย่อม จะไม่มีโอกาส ได้น้ำอ้อยไว้บริโภค

            พระเจ้ามิลินท์ยังไม่คลายความสงสัย ในประเด็นที่ว่า ในเมื่อพระ ๖๐ รูปตายในขณะฟัง อัคคิขันธูปมสูตร พระบรมศาสดาผู้แสดงจะมีความ มัวหมองใด ๆ ด้วยเหตุนั้นหรือไม่

            พระนาคเสนยืนยันในจุดยืนเดิมของตนว่า พระพุทธองค์ไม่มีความผิด ๆ พระ ๖๐ รูปประสบความพินาศเพราะการกระทำอันเป็นบาปหยาบช้า ของตนเอง โดยยกอุปมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า เปรียบเหมือนโจรที่ถูกจับได้แล้วถูกลงอาญา โดยประการต่าง ๆ ตามพระราชกำหนดกฎหมาย เช่น ถูกควักลูกตาบ้าง ถูกเสียบด้วยหลาวบ้าง ถูกตัดมือ ตัดเท้า ตัดศีรษะบ้าง เขาได้รับอาชญาเหล่านั้น เพราะการกระทำของเขาเอง

            อีกประการหนึ่ง ต้นกล้วยต้องตายเพราะลูกของตนก็ดี ม้าอัสดรตาย เพราะตกลูกก็ดี ก็เพราะการกระทำของตนเอง

            อีกประการหนึ่ง มีชายคนหนึ่งแจกน้ำอมฤตให้คนทั้งหลาย คนบางพวก ดื่มกินแล้ว เกิดมีสุขภาพดี โรคภัยไข้เจ็บหาย มีอายุยืนยาว แต่คนบาง คนดื่มกิน เข้าไปแล้ว กลับสุขภาพเสื่อมโทรมและตายไปในที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะมีโทษภัย อยู่ในตัวเขา จะไปตำหนิผู้แจกน้ำอมฤตหาได้ไม่ฉันใด พระบรม ศาสดาผู้ทรง แสดงธรรมแก่หมู่มนุษย์และเทพก็ฉันนั้น

             ผลปรากฏว่าพระเจ้ามิลินท์ทรงพอพระทัยในคำตอบพร้อมด้วยอุปมาอุปมัย ที่ชาญฉลาดของพระนาคเสน

Top