| home | พุดตานกถา | แก้ปัญหาได้ก็หายเครียด | แบบประเมินความเครียด | ปรากฎการณ์มหัศจรรย ์| ผู้รู้แห่งธิเบต |
| พระพุทธศาสนา (ตอนที่๒๑) | สมาธิเพื่อสุขภาพ | แนวทางเจริญวิปัสสนา | ธรรมะในมิลินทปัญหา | รายนามผู้บริจาค |

 

 
 

 
 


หลักความเชื่อ : เรื่องภพภูมิต่าง ๆ
๒๑ . ๑ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

            เรื่องของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกายังไม่จบ เพราะมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องมาก เนื่องจากเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุด อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์จึงมีความ สัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์

            ในล้านนาไทย ก่อนจะสร้างอาคารบ้านเรือน จะต้องมีการทำพิธี “ ขึ้นท้าวทั้ง ๔ ” เสียก่อน ้ประกอบพิธีได้แก่อาจารย์วัดผู้เป็นที่เคารพนับถือ ของชุมชน เครื่องประกอบพิธีมีเสาไม้แก่นขนาดเล็ก ๔ เหลี่ยมปักลงบนพื้น มีไม้ระแนงขนาดเล็ก ตีติดกับเสานั้น ยื่นไปยังทิศทั้ง ๔ ที่ปลายไม้ระแนง มีแผ่นกระดานบาง ๆ เล็ก ๆ ตีติดไว้อีกทีหนึ่งสำหรับเป็นที่วางเครื่องสังเวยบูชาแก่ท้าวจาตุมหาราชิกาทั้ง ๔ อาจารย์วัดจะจุดธูปเทียนบูชาแล้วก็อัญเชิญ ให้ท้าวทั้ง ๔ มาคุ้มครองปกป้องบ้านเรือน และครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบไป

บริวารของท้าวทั้ง ๔ ที่อยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

            นอกจากท้าวทั้ง ๔ แล้ว ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกายังมีเทพและที่มิใช่เทพ อาศัยอยู่เป็นพลเมืองของสวรรค์ชั้นนี้อีกมากมาย ดังต่อไปนี้ :

            ๑ . เทพประเภทขิฑฑาปโทสิกา เทพพวกนี้เดิมทีเดียวก็อยู่ในสวรรค์ชั้นสูง ขึ้นไปคือชั้นดาวดึงส์ แต่เทพพวกนี้เป็นเทพประเภทเจ้าสำราญ มัวเสพ ทิพยสุขอยู่กับนางเทพอัปสรในสวนสวรรค์ต่าง ๆ เช่นสวนนันทวัน สวนจิตรลดาวันเป็นต้น จนลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ลืมแม้กระทั่งการกินอาหารทิพย์ ร่างกายซูบผอมอ่อนเพลียลง ในที่สุดก็จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาอยู่ในสวรรค์ชั้นต่ำกว่า

            เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นเทวดาอยู่ในสวรรค์ก็ต้องรู้จักประมาณใน การเสพสุข มิฉะนั้นก็อาจตกต่ำได้เหมือนมนุษย์

            ๒ . เทพประเภทมโนปโทสิกา เป็นเทพประเภทที่มีจิตเต็มไปด้วยความ อิจฉาริษยาอย่างรุนแรงเมื่อได้เห็นความดีเด่น และความสุข ของเทพอื่น จึงมีจิตร้อนระอุอยู่ตลอดเวลา บางเทพถึงกับมีจิตวิปริตไป เมื่อจิตรุ่มร้อนด้วย ความอิจฉาริษยา รูปกายของเทพเหล่านี้ก็พลอย แปรเปลี่ยน ไปด้วย กลายเป็นร่าง พิกลพิการดูไม่น่าเจริญตาเจริญใจไป แต่ก็ยังมีสถานะเป็นเทพอยู่ แต่เป็นเทพชั้นต่ำใน สายตาของเทพอื่น ๆ คัมภีร์ไม่ได้บอกไว้ว่า เทพประเภทมโนปโทสิกานี้ตกลงมา จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือไม่

            เรื่องเทพประเภทมโนปโทสิกานี้สอนให้เรารู้ว่า แม้แต่เทวดามีสุขอันเป็น ทิพย์ก็ยังมีความอิจฉาริษยากันอย่างรุนแรง จนตัวเองต้องตกต่ำ และว่าสภาพจิต มีผลกระทบต่อสภาพกายอย่างรุนแรง

              ๓ . เทพประเภทสีตวลาหก หรือเทพเมฆเย็น ( สีตะ = เย็น , วลาหกะ = เมฆ ) เทพเหล่านี้เป็นเทพประจำปรากฏการณ์ธรรมชาติ เหนือ โลกขึ้นไป แต่ก็อยู่ ใกล้ ๆ โลก ถ้าท่านอยากให้ตัวท่านเย็นท่านก็บันดาลให้ก้อนเมฆเย็นได้

             ๔ . เทพประเภทอุณหวลาหกะ หรือเทพเมฆร้อน ( อุณหะ = ร้อน , วลาหกะ = เมฆ ) ทำหน้าที่ตรงกันข้ามกับเทพเมฆเย็น

             ๕ . สุริยเทพ ก็คือพระอาทิตย์นั้นเอง พระอาทิตย์เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในน่านฟ้า และมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ แก่ชีวิต บนแผ่นดิน จึงได้รับ การเคารพบูชาอย่างสูงในศาสนาอินดูยุคพระเวท และมีการกล่าวถึงมากในคัมภีร์ ทางพระพุทธศาสนา ในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง ได้บรรยายลักษณะของพระอาทิตย์ไว้ มีใจความว่า พระอาทิตย์กว้าง ๔๐๐ , ๐๐๐ วา ( ประมาณ ๒๐๐ ก . ม .) วัดโดยรอบได้ ๑๒ , ๐๐๐ , ๐๐๐ วา
( ประมาณ ๖ , ๐๐๐ ก . ม .) พระสุริยเทพอยู่ในปราสาททองที่ตั้งอยู่ บนรถทองที่เทียมด้วยม้าสินธพ ๑ , ๐๐๐ ตัว ทองนั้นประดับด้วยแก้วอินทนิล พระสุริยเทพขับรถทองนั้นไปรอบเขาพระสุเมรุ สูงในระดับยอดเขายุคันธร

             ในสุริยสูตร เล่าเรื่องพระสุริยเทพถูกอสุรินทราหูจับตัวและกำลังจะอมกลืน เข้าไป พระสุริยเทพต้องร้องขอความช่วยเหลือจาก พระสัมมา สัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ ทรงขู่สำทับให้อสุรินทราหูรีบปล่อย โดยตรัสว่าพระสุริยเทพได้ถึงพระรัตนตรัย เป็นที่พึงแล้ว ในที่สุดอสุรินทราหูก็ปล่อย ด้วยความหวาดกลัวต่อพระพุทธานุภาพ แล้วรีบไปขอพึ่งไพจิตราสูร ( เวปจิตติ ) ผู้เป็นนายของตน

             เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า พระสุริยเทพผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวฮินดูเคารพบูชาอย่างสูงนั้น สำหรับชาวพุทธแล้วเป็นเพียงเทพธรรมดาองค์หนึ่งที่ถูก อสูรปราบได้ และยัง ต้องมาขอความช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้ายังเอาพระสุริยเทพ มาเป็นลูกศิษย์เสียอีก โดยทรงอ้างว่า พระสุริยเทพได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึงแล้ว เพียงเท่านั้นอสุรินทราหูก็รีบเผ่นหนีทันทีด้วยความหวาดกลัว การมีเรื่องทำนอง “ ยกตนข่มท่าน ” แบบนี้ในทางศาสนาถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนเราเคารพนับถือ ศาสนาใด ย่อมจะมองว่าศาสนาของตนดีกว่าศาสนาอื่น ศาสดาของตนเก่งกว่าศาสดาอื่น

             สำหรับพระพุทธศาสนา ปรากฏการณ์แบบยกตนข่มท่านปรากฏชัดเจน ในยุคหลังพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อศาสนาพราหมณ์เริ่มฟื้นตัวขึ้นมา หลังจากถูก รัศมีของพระพุทธศาสนาบดบังมานาน  

          ๖ . จันทิมาเทพ ได้แก่พระจันทร์นั่นเอง สถิตอยู่ในวิมานชื่อ จันทา หรือ จันทมสะ มีความกว้าง ๓๙๒ , ๐๐๐ วา ( ประมาณ ๑๙๖ ก . ม . กว้างน้อยกว่า พระอาทิตย์เพียง ๔ ก . ม .) วัดโดยรอบได้ ๑ , ๑๗๖ , ๐๐๐ วา ( ประมาณ ๕๘๘ ก . ม .) จันทิมาเทพบุตรขับเคลื่อนปราสาทของตน ไปรอบ ๆ เขาพระสุเมรุ อยู่ในระดับต่ำกว่า พระสุริยเทพ ๘ , ๐๐๐ วา ( ประมาณ ๔ ก . ม .) ปราสาทตั้งอยู่ในรถแก้วมณีรัตน์อีกที ชักลากด้วยม้าสินธพ ๕๐๐ ตัว ทำงานในเวลากลางคืน รายละเอียดเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงแห่งสมัยสุโขทัย

             ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา มีเรื่องจันทิมาเทพบุตรถูกอสุรินทราหูประทุษร้ายและร้องขอให้พระพุทธองค์ช่วยเช่นเดียวกับเรื่องของ พระสุริยเทพ

              ในสสชาดก มีเรื่องเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เกิดเป็นกระต่าย และบำเพ็ญทานบารมีอย่างยิ่งยวด พระอินทร์แปลงตัวเป็นพราหมณ์ คนหนึ่ง มาเห็นเข้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ต้องการจะให้ความดีของกระต่ายนั้นปรากฎ เป็นเครื่องเตือนใจแก่ชาวโลก จึงนำภูเขามาบีบเป็นแผ่นแบนๆ ทำเป็นรูปกระต่ายและ เอาแปะติดไว้ที่พระจันทร์เพื่อให้คนเห็น แล้วระลึกถึงคุณงามความดีของกระต่าย ตลอดไป

              ๗ . ปัชชุนนะ บางทีเรียกว่า วัสสาวลาหกะ แปลว่า เมฆฝน มีหน้าที่ บันดาลให้ฝนตก เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่เคารพบูชาของพวก กสิกร เป็นพิเศษ ยิ่งกว่านั้น ท่านยังมีฐานะเป็น “ มหายักษ์ ” ผู้บังคับบัญชาบรรดา “ อมนุษย์ ” ชั้นต่ำทั้งหลายด้วย ดังนั้นเมื่อมนุษย์ถูกอมนุษย์เบียดเบียน เช่นถูกผีเข้า ถ้าขอให้เทพปัชชุนนะมาช่วย ท่านก็จะมาช่วยเสมอ

            มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่ง เกิดภัยฝนแล้งใหญ่ในรัฐโกศล ฝนไม่ตกติดต่อกัน เป็นเวลานาน แม้แต่น้ำในสระภายในพระเชตวันวิหารก็แห้งขอด ปูปลาต่างไปกบดาน อยู่ในโพรงโคลนพระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์ จึงทรงดลบันดาลให้ พระแท่นบัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ของพระอินทร์ แข็งกระด้าง เมื่อพระอินทร์ทราบ เหตุแล้ง จึงส่งให้วัสสาวลาหกะเทพบุตร ( ปัชชุนนะ ) ดลบันดาลให้ฝนตกห่าใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคราว ที่เทพปัชชุนนะทำให้ฝนตกแก้ภัยแล้ง

              ปัชชุนนะเป็นตำแหน่งคล้ายกับเทพอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อโลก ผู้ทำความดี อาจไปเกิดเป็นปัชชุนนะได้ พระอานนท์เองก็เคยเกิดเป็นเทพ ปัชชุนนะมาแล้ว

             ๘ . คันธัพพะหรือคนธรรพ์ ( คนไทยนิยมเรียกว่าคน – ธัน ) เป็นเทวดาชั้นต่ำ ประเภทหนึ่งในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นประเภท กึ่งอมนุษย์กึ่งเทวดา บางทีก็จัดไว้ในประเภทเดียวกับอสูรและนาค โดยฐานะแล้ว คนธรรพ์เป็นบริวาร ของท้าวมหาราชธตรฐะ แต่ก็มีคนธรรพ์ บางพวกไปรับใช้พระอินทร์อยู่ใน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เช่น คนธรรพ์ชื่อมาตลีเป็นสารถีของพระอินทร์ คนธรรพ์ ชื่อปัญจสิขะดีดพิณถวายพระอินทร์ ธิดาของท้าวติมพรุนามว่าสุริยวัจจสาเป็น นักฟ้อนรำบำเรอเทพทั้งหลาย

             ในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงคนธรรพ์ ในแง่มุมต่าง ๆ บางแห่งว่าคนธรรพ์ อาศัยอยู่ในมหาสุมทรมีร่างกายสูงหลายโยชน์ บางแห่งว่า คนธรรม์สิงสถิตอยู่ ตามส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ที่มีกลิ่นหอม บางแห่งบอกว่า คนธรรพ์เป็นตัวการคอย รบกวนภิกษุและภิกษุณีในการ ปฏิบัติสมาธิ บางแห่งบอกว่า คนธรรพ์เป็นวิญญาณ ที่ล่องลอยอยู่ในห้วงนภากาศ

             สำหรับคนธรรพ์ที่เป็นนักดนตรีและนักฟ้อนรำที่ให้ความบันเทิงแก่เทพใน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ชวนให้คิดไปว่าเมื่อพระอินทร์และไพร่พล ทำเทวาสุร สงครามชนะ ขับไล่เหล่าอสูรจากยอดเขาพระสุเมรุ ลงไปอยู่ท่ามกลางเขาและ

             ตีนเขานั้น คงไม่ได้ขับไล่ไปเสียทั้งหมด พวกไหนเป็นอสูรชั้นดีมีฝีมือพอที่จะทำประโยชน์แก่ตนได้ ก็คงคัดเลือกไว้และอนุญาตให้อยู่ในสวรรค ์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อรับใช้เทพทั้งหลายต่อไป ดังนั้นจึงมีคนธรรพ์เหลืออยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นอันมาก

             ส่วนที่ท่านกล่าวว่า คนธรรพ์พวกหนึ่งหมายถึงวิญญาณที่ล่องลอยอยู่ใน อากาศนั้น ชวนให้นึกถึงพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ใน มหาตัณหา สังขยสูตร ( ๑๒ / ๔๕๒ / ๔๘๗ )

              ที่ว่ามนุษย์จะถือกำเนิดในครรภ์ได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๓ ประการคือ :

                        ๑ . มาตา อุตุนี โหติ มารดามีรึดู ( อยู่ในช่วงที่เหมาะสม )

                        ๒ . มาตาปิตูนํ สํวาโส มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน

                        ๓ . คนฺธพฺโพ ปจฺจุปฏฺฐิโต คันธัพพะหรือคนธรรพ์เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะแล้ว

             คำว่า คนฺธพฺโพ ในองค์ประกอบที่ ๓ นั้น ในที่บางแห่งท่านบอกว่าหมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ หมายถึงวิญญาณของคนที่ตายแล้วยังล่องลอย อยู่ในอากาศ เพื่อแสวงหาที่เกิดในกำเนิดมนุษย์อีก ที่ท่านเรียกสัมภเวสี เพราะยังมีความ ยึดเหนี่ยวผูกพันอย่างเหนียวแน่น ในกามสุขของมนุษย์ ข้อที่น่าคิดก็คือ เพราะเหตุใด ท่านจึงเรียกวิญญาณแสวงที่เกิดเหล่านี้ว่า คนธรรพ์ แทนที่จะเรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ อย่างตรงไปตรงมา เข้าใจว่าเรื่องนี้ คงจะมีความสัมพันธ์อะไรบางอย่างระหว่าง พระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์หรือลัทธิความเชื่อถือของชาวพื้นเมืองที่นับถือแพร่หลายกันอยู่ ในสมัยนั้น พระพุทธองค์จึงอนุโลมตามเขาเพื่อความสะดวก ขอฝากไว้ให้นักปราชญ์ขบคิดและค้นคว้าต่อไป

             ๙ . กุมภัณฑ์ เป็นเทพชั้นต่ำและเป็นบริวารของท้าววิรุฬหกะเป็นพวก ที่มีสันดานหยาบและดุร้าย จึงมีลักษณะเป็นอมนุษย์ประเภทหนึ่ง ในที่บางแห่งมี การบรรยายรูปร่างลักษณะของพวกกุมภัณฑ์ไว้ว่า มีพุงใหญ่และมีลูกอัณฑะโตเท่าหม้อ จึงได้ชื่อว่า กุมภัณฑะ ( กุมภะ = ๑ หม้อ อัณฑะ = ลูกอัณฑะ )

             กุมภีระ ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่บ่อย ๆ ในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาก็เป็น หัวหน้าตนหนึ่งของพวกกุมภัณฑ์

             ๑๐ . ยักษ์ ( บาลีเป็นยักขะ ถ้าเป็นเพศหญิงเป็นยักษิณีหรือยัดขิณี ) เป็นเทพชั้นต่ำอีกประเภทหนึ่งในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นบริวารของ ท้าวกุเวร แต่อยู่ในอุตรกุรุทวีป ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของภูเขาพระสุเมรุ อยู่กันเป็น บ้านเป็นเมือง มีนครหลวงชื่อ อาลกมัณฑา แต่ในที่บางแห่งก็บอกว่า ยักษ์มี อยู่แม้ที่เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองราชคฤห์ เมืองอาฬวี เป็นต้น

             เรื่องเกี่ยวกับยักษ์เป็นเรื่องสลับซับซ้อนมาก รู้สึกว่าจะมีหลายประเภท และหลายชั้น บางพวกก็ดูเป็นเทพชั้นสูงบางพวกเคยมาเฝ้าเพื่อสนทนา ธรรมกับ พระพุทธเจ้าก็มี พระอินทร์เองก็ได้รับขนานนามว่ายักษ์ในที่บางแห่ง บางพวกก็เป็น เทพชั้นต่ำ บางพวกก็เป็นอมนุษย์ผู้มีความชั่วร้ายน่ากลัว ชอบจับมนุษย์กินเป็นอาหาร มีฤทธิ์เดชแบบเทวดา แต่เหี้ยมโหดดุจสัตว์ร้าย มีรูปร่างลักษณะน่ากลัว ตัวใหญ่ ตาแดง ไม่กระพริบตาและไม่มีเงา ยักษ์ แบบนี้มีบทบาทมากในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ชั้นอรรถกถาและฎีกาในวรรณกรรมท้องถิ่นของไทย พูดถึงยักษ์ประเภทนี้มากกว่าประเภทใด ๆ

             ๑๑ . รุกขเทวดา เป็นเทพชั้นต่ำอาศัยอยู่ตามต้นไม้

             ๑๒ . ภูมิเทวดาหรือภุมมเทวดา เป็นเทพชั้นต่ำอาศัยอยู่ตามพื้นดินบ้าง เรียกว่าพระภูมิเจ้าที่เจ้าทาง อยู่ตามป่าตามเขาบ้าง

             เทพทั้ง ๒ ประเภทนี้อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ ผสมปนเปกับพวกยักษ์ แต่พวกยักษ์มักให้โทษแก่มนุษย์ ส่วนรุกขเทวดาและภุมมเทวดา อาจให้คุณแก่ มนุษย์ได้ ถ้าให้การเคารพดี ๆ  

             ๑๓ . นาค เป็นกึ่งเทพ กึ่งมนุษย์ กึ่งสัตว์เดียรฉานคือ อยู่ในพิภพนาคใต้ เขาพระสุเมรุ หรือโลกบาดาลใต้แม่น้ำใหญ่ ใต้ทะเลสาบหรือ ทะเล ทั่วไป นาคตามปกติ อยในู่เพศของงูใหญ่ มีพังพาน มีพิษร้ายกาจมาก แต่อาจแปลงเพศเป็นมนุษย์เพื่อกิจการ บางอย่างได้ พวกนาคมีบทบาท ในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา

             ๑๔ . ครุฑ เป็นกึ่งเทพ กึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์คือ นกขนาดใหญ่ คือนกอินทรีย์ หรือเหยี่ยว มักจะเป็นศัตรูกับนาค ชอบจับนาคกินเป็นอาหาร

จบสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพก่อสร้างศาลาฝึกอบรม
ของมูลนิธิกลุ่มศรัทธาธรรม

             มูลนิธิกลุ่มศรัทธาธรรมได้ก่อสร้างศาลาฝึกอบรมขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม จริยธรรมแก่เยาวชน    และใช้ในการปฏิบัติธรรม ศาลาฝึกอบรมมีขนาด ๑๘ x ๒๘ เมตร งบประมาณสองล้านห้าแสนบาท มูลนิธิฯ    ยังขาดงบประมาณอีกจำนวนมาก จึงขอเรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธามาร่วมกันทำบุญ ผู้สนใจติดต่อบริจาคได้ที่ ...

คุณพรพรรณ สุจริตวณิช
มูลนิธิกลุ่มศรัทธาธรรม
๑๔๒ ถ . เมืองสมุทร อ . เมือง จ . เชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐๙ - ๗๕๕๔๓๙๙

Top