โดย............
ธรรมโฆษ


 

  วิธีรักษาโรค ๒ อย่าง

            ในด้านร่างกาย คนเราถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา เชื้อโรคหรือแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ปลิวว่อนอยู่ทุกหนทุกแห่ง จ้องคอยเข้าโจมตี คนทุกเมื่อ มันคอยจังหวะคนเผลอ คนเผลอขาดความระมัดระวังมันจะเข้า โจมตีทันที มันจ้องหาจุดอ่อนที่พอจะเข้ายึดหัวหาดได้ ถ้าพบจุดอ่อน มันจะเข้ายึด ทันที ฉะนั้นหน้าที่ประการแรกของเราคือ ป้องกันโรคไว้ก่อน วิธีป้องกันก็คือ

            ๑ . รักษาสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรงไว้ ตราบใดที่ร่างกายเรา แข็งแรงอยู่ เชื้อโรคจะเข้าโจมตีไม่ได้ วิธีรักษาสุขภาพ ก็คือ กินอาหารดี ๆ เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ออกกำลังกายโดยการทำงาน ออกแรงหรือเล่นกีฬา พักผ่อนหย่อนใจตามสมควร

            ๒ . วิธีป้องกันอีกอย่างหนึ่งคืออย่าเผลอ เช่นอาหารต้องระวังรักษา ให้สะอาด เสื้อผ้าที่อยู่อาศัยต้องสะอาด เวลามีโรคติดต่อรีบฉีดยาป้องกัน เจ็บป่วยเล็กน้อยต้องรีบตรวจและรักษา อย่าปล่อยไว้อย่าประมาทว่าไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่เราว่าไม่เป็นไรนั่นแหละ มันจะเกิดเป็นไรขึ้นมาวันหลัง

            ประการที่ ๒ เมื่อเราเจ็บป่วยแล้ว ถูกเชื้อโรคเข้าโจมตีแล้ว วิธีจัดการ ก็คือ รักษาแก้ การรักษาก็คือ ทำตามที่หมอสั่ง เช่นรับประทานยาตามที่หมอสั่ง เป็นต้น อย่าทำสิ่งใดที่หมอห้าม ถ้าทำได้อย่างนี้โรคก็จะบรรเทาเบาบางลง ถ้าไม่บรรเทา ก็จะยืดอายุ เราต่อไปอีกนานทีเดียว

โรคใจ ๒ ประการ
            ในด้านจิตใจ คนเราก็ถูกโรคเบียดเบียนเหมือนกัน โรคใจคืออะไร ? โรคใจคือความทุกข์ ทุกคนที่เกิดขึ้นมาในโลก นำโรคทุกข์ติดตัวมาคนละหอบ โรคทุกข์มี ๒ อย่าง คือ

             ๑ . โรคประจำ โรคประจำนี้ทุกคนได้มาตั้งแต่เกิด พอเกิดขึ้นมามัน ก็ติดตัวมาเลย ไม่มีใครรอดพ้นไปจากโรคประจำนี้ได้ โรคประจำนี้คืออะไร ? คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความแก่ก็คืออาการที่ สังขารร่างกายของเรา ทรุดโทรมลง แก่หง่อมลงทุกวัน ความเจ็บในที่นี้หมายถึงความเจ็บประจำสังขาร ไม่ได้หมายถึงความเจ็บอันเกิดจากโรคภัยพยาธิ ความเจ็บประจำสังขารมันมีอยู่ ตลอดเวลา แม้เวลาเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ มันก็รู้สึกเจ็บปวดเมื่อยตามหลัง ตามเอว ตามไหล่ ตามแข้งตามขา บางคนพลิกไปพลิกมาหลายครั้ง บางคนถึงกับ ออกไปเดินยืดเส้นยืดสาย แต่ครั้นเดินนานเข้าก็เจ็บอีก ต้องลงนอน ครั้นนอน นานเข้าก็เจ็บอีก เราต้องเปลี่ยนอริยาบถสู่กับทุกข์คือความเจ็บประจำสังขารนี้ ตลอดเวลาไม่มีใครรอดพ้นจากความเจ็บประจำสังขารนี้ไปได้ แม้จะยังหนุ่มแน่น มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเท่าไรก็ตาม

            นอกจากนี้ยังมีโรคประจำอื่น ๆ อีก เช่น ความหิว ความกระหาย ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ความง่วงเป็นต้น วันหนึ่ง ๆ โรคเหล่านี้เข้าโจมตี เราหลายครั้ง เราต้องกินยาแก้วันละหลายครั้ง เราต้องรับประทานอาหารวันละ ๓ ครั้งเพื่อแก้โรคหิว เราต้องรับประทานนํ้าวันละหลายแก้วเพื่อแก้โรคกระหาย เราต้องนอนวันละหลาย ๆ ชั่วโมงเพื่อแก้โรคง่วง เราต้องพักผ่อนวันละ หลาย ๆ ชั่วโมงเพื่อแก้โรคเมื่อย โรคเหล่านี้เราไม่ค่อยเห็นเป็นโรค เพราะความ เคยชิน แต่ความจริงเป็นโรคร้ายแรง เช่นโรคหิวถ้าเราไม่เอายาคืออาหารแก้ไว้ เราจะตายภายใน ๓ สัปดาห์ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า ชิคจฺฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคชั้นยอด เหล่านี้จัดเข้าในประเภทความเจ็บป่วยประจำ สังขาร

             ส่วนความตายนั้น ชัดอยู่แล้วไม่ต้องอธิบายมาก โรคตายนี้ไม่มี ใครแก้ได้เลย แม้จะมีเงินเป็นพัน ๆ ล้าน มีบริวารเป็นแสน มีแฟนเป็นร้อย ก็ช่วยไม่ได้ นี้เป็นทุกข์ประจำซึ่งมีมาตั้งแต่กำเนิด

            ๒ . โรคจรหรือทุกข์จร หมายถึงโรคซึ่งเข้าโจมตีเราตามรายทาง ขณะที่เรามีชีวิตอยู่ในโลก ที่เรียกว่าโรคจรก็เพราะมันเข้าโจมตีเป็นครั้งคราว โรคจรมีอะไรบ้าง ? โรคจรมี ความโศกเศร้าเสียใจพิไลรำพัน อัดอั้นตันใจ คับแค้นแน่นทรวงต่าง ๆ นานา อันเกิดมาจากพลัดพรากจากของรักคนรัก ประจวบกับของและคนที่ไม่รักไม่ชอบใจ ต้องการคนใดสิ่งใดไม่ได้สมประสงค์ เป็นต้น ทั้ง ๓ ประการนี้ทุกคนต้องประสบ ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยพลัดพรากจาก ของรักของชอบใจ ไม่มีใครเลยไม่เคยประสบกับของไม่รักไม่ชอบใจ ไม่มีใคร เลยที่ไม่เคยผิดหวัง ต่อให้เป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี มีทรัพย์มีอำนาจมากเท่าไร ก็ไม่พ้นไปจากทุกข์ทั้ง ๓ ประการนี้ ฉะนั้นพระพุทธองค์ จึงตรัสไว้คราวประทับ อยู่เมืองโกสัมพีว่า

             “ เราเปรียบเหมือนช้างที่เข้าสู่สงคราม มีหน้าที่ที่จะต้องอดทนต่อลูกศร ที่ข้าศึกยิงมาจากทิศทั้ง ๔ ”

            
ลูกศรที่ข้าศึกยิงมาจากทิศทั้ง ๔ มีอะไรบ้าง ? ลูกศรมี ๘ ชนิด แบ่งเป็น ๔ คู่ คือได้ลาภ เสียลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้รับคำสรรเสริญ ถูกตำหนิติเตียน นินทา ได้ความสุขสบายกาย สบายใจ ได้รับความทุกข์กายทุกข์ใจ

            โลกนี้คือ สงครามหรือสนามรบ เราเปรียบเหมือนช้างในสนามรบ พอเกิดมาก็เผชิญหน้ากับลูกศรทันที มาด้วยนํ้าตาไปด้วยนํ้าตา พอพ้นท้องแม่ ออกมาเท่านั้นร้องไห้แล้ว เพราะเขารู้ว่าเขาจะต้องไปเผชิญหน้ากับลูกศร ไม่มี ใครเลยพอออกมาแล้วก็หัวเราะลั่น ร้องไห้ทุกคน แต่ว่าพ่อแม่และหมู่ญาติ หัวเราะ เวลาเราจากไปเราไปเงียบ ๆ แต่ลูกเมียพี่น้องร้องไห้ลั่น คนอื่น ๆ เขา ยินดีที่เราจะต้องมาเผชิญทุกข์กับเขา และเขาเสียใจที่เราจากเขาไปปล่อยให้ เขาเผชิญทุกข์ต่อไป

            พอเกิดมาลูกศรทั้งหลายก็รุมเล่นงานเรา บางครั้งก็ได้ลาภ บางคราว ก็เสียลาภ บางครั้งได้ยศ บางครั้งก็เสื่อมยศ บางครั้งได้รับการสรรเสริญ บางคราวถูกนินทา บางครั้งก็สุขบางคราวก็ทุกข์ สลับกันไปเช่นนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย นี้คือโรคใจ

โรคใจคือทุกข์เป็นเรื่องใหญ่

            โรคใจคือทุกข์เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในชีวิตมนุษย์ ถ้าผมจะถามท่าน ว่าท่านกลัวอะไรมากที่สุด ก็อาจจะได้คำตอบต่าง ๆ กัน เช่น กลัวเสือ กลัวงู กลัวผี กลัวความอดยาก กลัวความทุกข์ยากลำบาก กลัวความจน ตลอดถึง กลัวเมีย ! ถ้าจะถามต่อไปอีกว่า ทำไมจึงกลัวเสือ ? ก็อาจตอบได้ว่า เพราะเสือ เป็นสัตว์ดุร้าย มันอาจจะกัดเราได้เมื่อกัดแล้วเราอาจตาย ถ้าเรารู้แน่นอน ว่าเสือมันตายแล้ว ไม่สามารถทำให้เราตายได้ เราจะไม่กลัวมันเลย เราจะ กระโดดขึ้นขี่หลังมันได้อย่างสบาย ฉะนั้นความกลัวทุกชนิดเมื่อสรุปแล้ว ก็ไปรวมจุดอยู่ที่กลัวตาย

            แต่ถ้าเรากลัวตายจริง ทำไมเราจึงอ่านพบในหนังสือพิมพ์แทบ ไม่เว้นแต่ละวันว่า นายนั้นยิงตัวตาย นางสาวนี้กินยาพิษตาย อาเสี่ยนั้นผูกคอตาย พาร์ตเนอร์โน้นกระโดดนํ้าตาย ? ถ้ากลัวตายจริง ทำไมเขาจึงกล้าเปิดประตูรับ มัจจุราชด้วยความยินดี ? มิแสดงว่าเขาไม่กลัวตายดอกหรือ ? หรือมีอะไรที่ น่ากลัวยิ่งกว่าความตาย ?

            ถ้าเราพิจารณาลงไปถึงเหตุแห่งการฆ่าตัวตายเราก็จะพบว่า ทุกคน กำลังประสบทุกข์หนัก เพราะความผิดหวังอันยิ่งใหญ่ต่าง ๆ เมื่อไม่มีทางจะ แก้ทุกข์ได้จึงพยายามหนีทุกข์ด้วยความตาย เอาความตายเป็นประตูหลบ หนีทุกข์ ฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ความทุกข์คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด น่ากลัวยิ่งกว่า ความตาย ถ้าเอาความตายมาแลกกับความทุกข์แล้ว ความตายก็เป็นเรื่องเล็ก

            อาจจะกล่าวได้ว่า ชีวิตเต็มไปด้วยทุกข์ คนเราต้องต่อสู้กับความทุกข์ ตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าอาหารที่อยู่อาศัย ล้วนเป็นอุปกรณ์บรรเทาทุกข์ทั้งนั้น โลกนี้จึงเปรียบเหมือนโรงพยาบาลใหญ่ ที่ทุกคนกำลังป่วยด้วยโรคทุกข์ ถ้าจะว่าตามหลักจริง ๆ แล้ว ความสุขในโลกนี้ไม่มี ที่เรารู้สึกว่ามีความสุขนั้น เพราะความทุกข์ได้รับการบำบัดปัดเป่าไปชั่วครั้ง ชั่วคราวเท่านั้นเอง เช่นเรากินข้าวอิ่มรู้สึกมีความสุข เพราะโรคหิวได้รับการบำบัด ไปชั่วคราว ในไม่ช้าก็หิวอีก เพราะความหิวเป็นโรคประจำกายที่ไม่มีวันหาย เด็ดขาด

            ฉะนั้นทุกข์จึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นโรคประจำใจมนุษย์ทุกคน

ศาสนาเป็นยาแก้โรคใจ

            ศาสนาทุกศาสนามีไว้เพื่อประโยชน์ ๒ ประการ คือ ๑ . แก้ทุกข์หรือ บรรเทาทุกข์ ๒ . ป้องกันทุกข์ซึ่งยังไม่เกิด ถ้าไม่มีทุกข์ ศาสนาจะไม่มีเลยในโลก และตราบใดที่โลกยังมีทุกข์ก็ยังต้องมีศาสนา คนเราในเวลาปกติก็อาจจะ ลืมศาสนาไปชั่วคราว แต่เมื่อใดประสบทุกข์หนัก จะหันหน้าเข้าศาสนาทันที เหมือนเมื่อเรายังไม่เจ็บป่วย ก็เดินผ่านโรงพยาบาล เดินผ่านร้านขายยา เฉย ๆ ไม่สนใจ แต่เวลาเจ็บป่วยลงจะวิ่งวุ่นหาหมอหายาทันที บางคนอาจ ยืนยันว่าตนไม่มีศาสนา ไม่นับถือศาสนาใด ๆ แต่เขาก็จักต้องมีหลักอะไร บางอย่างในการแก้ทุกข์ ในการป้องกันทุกข์ หลักแก้ทุกข์ของแต่ละคนอาจจะ ไม่เหมือนกัน เราอาจจะเรียกได้ว่าปรัชญาส่วนบุคคล ถ้าเขาใช้ปรัชญาส่วน บุคคลในการแก้ทุกข์ เขาก็ถือปรัชญาของเขาเป็นศาสนา ไม่มีใครอยู่ได้โดย ปราศจากศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ไม่ศาสนาส่วนรวมแบบสถาบันก็เป็นศาสนา ส่วนบุคคล เพราะทุกคนยังมีทุกข์อยู่

ศาสนาแก้ทุกข์ประจำอย่างไร ?

            เป็นที่ทราบแล้วว่า โรคประจำคือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความหิว ความง่วง ความกระหาย ความเหน็ดเหนื่อยเป็นต้น โรคประจำเหล่านี้มี ประจำตัวคนทุกคนตลอดกาล ไม่มีทางจะรักษาให้หายขาดได้ มีแต่ทางบำบัด ปัดเป่าไปชั่วครั้งชั่วคราว เช่นหิวก็ทานข้าว กระหายนํ้าก็ดื่มนํ้า ง่วงก็นอน เหนื่อยก็พัก เจ็บปวดก็เปลี่ยนอิริยาบถเป็นต้น ส่วนโรคแก่โรคตายนั้น ไม่มีทาง บำบัด ทุกคนเกิดมาแล้วก็แก่ลงทุก ๆ นาทีที่ผ่านไป ถ้าเราห้ามโลกมิให้หมุนได้ บางทีเราอาจจะหยุดแก่ได้ ส่วนความตายก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยง มันเป็นจุดหมาย ปลายทางที่ทุกคนจะต้องเดินไปถึงสักวันหนึ่ง

             เมื่อไม่มีทางแก้ไข เราจะต้องเผชิญหน้ากับมันแน่ ๆ ทั้ง ๆ ที่เรา เกลียดมัน เราไม่ชอบมัน เราควรจะทำอย่างไร ? ทุกคนเกลียดและกลัวความแก่ ไม่มีใครอยากแก่ เพียงแต่นั่งคิดว่า ตนจะแก่ก็เศร้าใจ บางคนถึงกับอยากตาย เสียก่อนแก่ บางคนถึงกับฆ่าตัวตายก่อนจะแก่ มีผู้กล่าวว่า มาริลิน มอนโร ดาราภาพยนตร์ชั้นนำของโลก ฆ่าตัวตายเพราะกลัวแก่ เพราะขณะที่ยังสาวเขา สวย รูปร่างเป็นที่ชอบใจของชายทั่วโลกมีคนนิยมชมชอบทั่วโลก แต่เมื่อแก่ลง ความงามหายไป เธอจะกลายเป็นคนไร้ค่า เพราะค่าของเขาขึ้นอยู่กับสังขาร ร่างกายแท้ ๆ เขารู้สึกเศร้าใจเมื่อคิดว่าเขาจะแก่และไร้ค่า รู้สึกว่าตายเสียในขณะ ที่กำลังสวยกำลังงาม กำลังมีคนนิยมชมชื่น มันดีกว่า เลยฆ่าตัวตายก่อนแก่ คนคิดแบบนี้ก็มี

            บางคนยังไม่อยากตายก็พยายามเอาชนะความแก่ สังขารส่วนไหน ทรุดโทรมลงก็ปรับปรุง ผมมันหงอกก็จัดการย้อมให้มันดำได้ ฟันร่วงหลุดไป ก็หาฟันปลอมใส่ไว้ ผิวหนังเหี่ยวย่นก็พยายามผ่าตัดเย็บเสียใหม่ให้มันเต่งตึง แต่ก็เอาชนะได้เพียงบางส่วน ถึงยังไงมันก็ต้องแก่วันยังคํ่า ไม่มีสิ่งใดจะปกปิด ได้เลย ช่างตายทั้งตัวจะเอาใบบัวมาปิดได้อย่างไร

            เรื่องความตายคนก็กลัวที่สุด เกลียดที่สุด ไม่อยากคิดถึงมัน เพราะมันทำให้ใจหดหู่ ทำให้เกิดความท้อแท้ใจ ไม่อยากพูด ไม่อยากฟัง ไม่อยากคิดถึงความตาย เรากลัวผีเพราะกลัวความตาย เรากลัวป่าช้า เพราะกลัว ความตาย กลัวมืดเพราะกลัวความตาย

เราจะแก้ไขอย่างไร

            ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าเรากลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เราจะต้องเผชิญหน้ากับมัน แน่ ๆ เราควรจะทำอย่างไร ? เราควรจะเผชิญกับมันอย่างกล้าหาญ ด้วยจิตใจ อันมั่นคง หรือด้วยความประหวั่น พรั่นพรึง ขวัญหนีดีฝ่อ ?

             สามัญชนที่มีสติดีทุกคนย่อมจะตอบว่า ควรเผชิญกับมันด้วยใจกล้า หาญมั่นคง ด้วยขวัญอันดี เหมือนเราจะเผชิญหน้ากับข้าศึก เราต้องมีความ กล้าหาญ ไม่กลัว มีขวัญดี เราจึงจะได้เปรียบ ฉะนั้นขวัญจึงสำคัญที่สุด ในทหาร ถ้าขวัญดี ระเบียบวินัยและชัยชนะจะตามมา ถ้าขวัญไม่ดี แม้จะมีอาวุธดีเท่าไร ก็เสียเปรียบข้าศึก ฉะนั้นเขาจึงบำรุงขวัญกันเป็นสำคัญ

             ทำอย่างไรเราจึงจะขวัญดี ในการเผชิญทุกข์ใหญ่คือ เกิดแก่เจ็บตาย ? ก่อนอื่นเราต้องทำความ คุ้นเคยกับมัน ให้เกิดความรู้จักสนิทสนมเคยชินกับมัน เหมือนเรากลัวเจ้านาย ถ้าเรายิ่งห่างจะยิ่งกลัว แต่ถ้าเราหมั่นเข้าไปหา ทำความรู้จักสนิทสนมคุ้นเคย เราจะไม่กลัว

            เราจะเข้าหาความแก่ ความเจ็บความตายได้อย่างไร ? เราเข้าทางกาย ไม้ได้ทันที เช่นเราจะลองแก่ดูไม่ได้ จะลองตายดูไม่ได้ แต่เราอาจเข้าหามัน ได้โดยทางจิตใจ นั่นก็คือหมั่นระลึกถึงมัน หรือเจริญมรณัสสติ คือ หมั่นคิดอยู่เสมอว่า เรามีความเจ็บ แก่ ตายเป็นธรรมดา จะหลีกเลี่ยงไม่พ้น ถ้าคิดอยู่เสมอ ๆ ทุกวัน ในที่สุดเราจะเห็นเป็นของธรรมดา ไม่กลัวมัน เมื่อแก่ตัวลงก็ไม่เดือดร้อน เมื่อเจ็บป่วยลงก็ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ขวัญดี เป็นการช่วยหมออย่างยิ่ง เพราะตามปกติหมอรักษาคนป่วยนั้น ลำบากมากใน การรักษาใจเขา รักษากายไม่เท่าไร รักษาใจลำบากมาก ถ้าเราใจดีขวัญดีก็เท่ากับ ช่วยหมอมีหวังหายเร็วเข้า เมื่อความตายมาถึง เราก็จะตายอย่างสงบ ตายด้วยใจบริสุทธิ์ เมื่อใจบริสุทธิ์ก็มีหวังไปเกิดสุคติ นี้เป็นวิธีบรรเทาทุกข์ อันเกิดจากโรคแก่ เจ็บ ตาย

จะจัดการกับทุกข์จรได้อย่างไร ?

            โรคจรเราจัดการ ๒ อย่าง คือ แก้ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว และป้องกัน มิให้มันเกิดขึ้น โรคจรไม่เหมือนโรคประจำ คือยังมีทางแก้และป้องกันได้ ทุกข์จรเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราจะแก้อย่างไร ? นี้เป็นปัญหาสำคัญ

             ก่อนอื่นที่สุด เราต้องรู้ว่าความทุกข์แต่ละอย่างซึ่งเราได้รับ อันเกิดจาก ประสบกับสิ่งไม่ชอบใจก็ดี พลัดพรากจากสิ่งที่ชอบใจก็ดี อยากได้สิ่งใดไม่ได้ สมหวังก็ดี ล้วนเป็นโรคใจ เป็นความป่วยใจ ซึ่งมีทางรักษาได้ ไม่ใช่ร้ายแรงถึง ขนาดรักษาไม้ได้ ถ้าเรารู้อย่างนี้ ก็จะมีทางรักษาให้หายได้

            คนส่วนมาก เมื่อประสบทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มักจะเข้าใจว่า ทุกข์ของตนหนักหนาเกินไป และจะไม่มีวันหาย เลยตีตนตายก่อนไข้ อกสั่นขวัญหนี เอะอะโวยวาย อาการเช่นนี้ แทนที่จะบรรเทาทุกข์ กลับจะเพิ่ม ทุกข์ไปให้คนอื่น เช่นทำให้คนข้างเคียงพลอยเดือดร้อนไปด้วย เช่น บางคน ทะเลาะกับเมียกลุ้มมาจากบ้าน แล้วก็มาเอะอะเอากับลูกน้องที่ทำงานดังนี้เป็นต้น บางรายเมื่อได้รับทุกข์จากสิ่งใดก็ทำลายสิ่งนั้น เช่นรักเขาเขาไม่รักตอบ กลัดกลุ้ม ขึ้นมามาก ๆ ก็ไปฆ่าเขาเสียอย่างนี้เป็นต้น ทำอย่างนี้ ชื่อว่าแผ่ทุกข์ของตนให้ คนอื่น ขยายขอบเขตทุกข์ให้กว้างขวางออกไป และยืดอายุทุกข์ออกไปโดย ไม่จำเป็น
            
            ฉะนั้นทางที่ถูกเมื่อได้รับทุกข์แล้ว ควรกำจัดเขตทุกข์ไว้เฉพาะตน อย่าขยายขอบเขตออกไป และอย่าต่อความยาวสาวความยืด
          
ฉะนั้นก้าวแรกในการจัดการดับทุกข์ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วคือ
             ๑ . ขวัญดี ไม่อกสั่นขวัญหาย ทำความเข้าใจว่ามันรักษาได้ อย่าขยายทุกข์
             ๒ . อย่าเพิ่มทุกข ์ โดยการกลบทุกข์ เช่น กินเหล้า เที่ยวเถลไถลไป
             ๓ . อย่าแผ่ทุกข์ให้คนอื่น เช่น ไปฆ่าเขา เป็นต้น
             ๔ . อย่าต่อทุกข์ให้ยืดเยื้อ อดทน

วิธีแก้ทุกข์ปัจจุบัน

            เมื่อเราจำกัดทุกข์ไว้แล้วเช่นนี้ ขั้นต่อไปก็คือกินยาแก้ทุกข์ ยาแก้ทุกข์คืออะไร ? ยาแก้ทุกข์มีหลายประการที่สำคัญก็คือ

๑ . ความรู้
         
๑ . ๑ เราต้องท่องอยู่ในใจว่า ทุกข์เป็นของธรรมดา ไม่มีใครพ้น ความทุกข์ไปได้ เราไม่ใช่คนเดียวที่มีทุกข์ คนอื่น ๆ ก็มีทุกข์เหมือนกัน ฉะนั้น เราจึงมีเพื่อนทางจิตใจ คนส่วนมากมักเข้าใจว่าตนเป็นทุกข์คนเดียวอาภัพกว่า คนอื่น ๆ เคราะห์ร้ายกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งทำให้ทุกข์มากขึ้น
            ๑ . ๒ เราต้องท่องอยู่ในใจว่า นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราประสบทุกข์ เรา เคยประสบทุกข์มามากต่อมากแล้ว แม้จะไม่เคยมีทุกข์ในชาตินี้ ในชาติก่อนๆ เราเคยทุกข์มามากแล้ว ในคราวที่นางปฏาจาราร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพราะ สูญเสียสามี บุตร ๒ คน และพ่อแม่ พระพุทธองค์ตรัสปลอบว่า นํ้าตาที่เธอร้องไห้ ในวัฏสังสาร ถ้ารวบรวมกันแล้วมากกว่านํ้าในมหาสมุทรเสียอีก
            ๑ . ๓ เราต้องท่องไว้ว่า ทุกข์ก็เหมือนสิ่งอื่น ๆ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ดับไปไม่มีอะไรอยู่คํ้าฟ้า เวลานี้เราอาจทุกข์ แต่สักวันหนึ่ง มันจะต้องหายไป ไม่เร็วก็ช้า นี้เป็นการปลอบใจ
            ๑ . ๔ หัดมองทุกข์ในแง่ดีเสียบ้าง คือถือว่าทุกข์นี้มันเข้ามาช่วย ส่งเสริมชุบย้อมจิตใจของเราให้เข้มแข็งขึ้น บึกบึนและอดทนขึ้น ทำให้เราฉลาด ขึ้น รู้หลักธรรมดาขึ้น คนที่ไม่เคยทุกข์เลย จะอ่อนแอ ฉะนั้นทุกข์มันก็เป็นสิ่ง ที่มีประโยชน์ เราควรขอบใจมันที่มันมาช่วยชุบชีวิตเราให้แข็งแกร่งขึ้น

๒ . หาสิ่งทดทน เมื่อมีทุกข์แล้ว ถ้าเรามัวเอาใจใส่ครุ่นคิดอยู่กับทุกข จะเท่ากับหล่อเลี้ยงความทุกข์ไว้ ทางที่ดีอย่าสนใจในมัน หาทางดึงความสนใจ จากมันเสีย เอาความสนใจไปไว้ที่สิ่งอื่น โดยวิธีดังต่อไปนี้
         ๒ . ๑ เที่ยวไป ดูบ้าน ดูเมือง ดูคน ดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ให้มันลืมทุกข์ไป ถ้ามันยังไม่ลืมก็ดูสิ่งอื่นเรื่อย ๆ ไป การได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ประกอบด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป จะช่วยให้จิตใจของเราดีขึ้น
            ๒ . ๒ อ่านหนังสือ การอ่านหนังสืออาจจะช่วยได้มาก หนังสือที่ อ่านอาจจะเป็นนวนิยายก็ได้ เพราะนวนิยายมักจะเป็นเรื่องสนุกสนานเพลิด เพลิน บางทีก็มีคติสอนใจแทรกอยู่ในตัว บางเรื่องก็อาจจะมีเค้าโครงคล้าย ๆ กับเหตุการณ์ของเราเอง ทำให้เราได้แนวคิดแก่จากเรื่องนั้น ถ้าไม่อ่านนิยาย ก็อ่านชีวประวัติคนสำคัญ ๆ เพราะคนสำคัญทุกคนกว่าจะได้เป็นคนสำคัญ ต้องผ่านความยากลำบากมาแทบทุกชนิด แทบตายทั้งนั้น บางทีความทุกข์ ของเรา ถ้าเอาไปเทียบกับท่านเหล่านั้นก็เป็นเรื่องเล็ก ถ้าไม่อ่านชีวประวัติคน สำคัญก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมะที่ผู้เขียน ๆ ด้วยสำนวนง่าย ๆ ก็จะได้แนวคิด และคติสอนใจ ทำให้บรรเทาทุกข์ลงได้
           ๒ . ๓ หางานพิเศษบางอย่างทำ ถ้าไม่อ่านหนังสือก็พยายาม หางานพิเศษทำและทำด้วยความเอาใจใส่อย่างจริงจัง เผื่อว่าจิตใจจะได้จดจ่ออยู่ กับงาน ทำให้ลืมทุกข์ไปได้ ถ้าไม่มีงานพิเศษก็ทำงานปกติของเรานั่นเอง แต่ว่าทำ ด้วยความขยันขันแข็งขึ้นกว่าเดิม
        ๒ . ๔ เข้าหานักปราชญ ์ ถ้ามีเวลาว่างก็ควรไปหาพระที่เราเคารพ นับถือ ระบายความทุกข์ให้ท่านฟัง แล้วก็ตั้งใจฟังคำแนะนำปลอบโยนจากท่าน ถ้าไม่ไปหาพระก็ควรไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ แล้วก็ระบายทุกข์ให้ ท่านฟัง ท่านเหล่านั้นล้วนเคยประสบทุกข์มาแล้วทั้งนั้น อาจจะช่วยแนะนำเราได้
          ๒ . ๕ แสร้งทำเป็นสุข ถ้าทำอย่างไรก็ไม่หาย ก็ลองแกล้งทำเป็น สุขโดยข่มใจทำเป็นร่าเริง หัวเราะสนุกสนาน แบบหน้าชื่นอกตรมลองดู บางทีจะ ช่วยได้ เพราะความทุกข์เป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง อารมณ์บางชนิดเราอาจเร้าให้เกิด ขึ้น ได้โดยการแสร้งทำก่อน เช่นเราไม่ขำ ถ้าแกล้งหัวเราะ ประเดี๋ยวมันก็ขำเอง เราไม่เศร้าแกล้งทำเป็นเศร้าร้องไห้ร้องห่ม ประเดี๋ยวก็ร้องไห้จริง ๆ ฉะนั้นลอง แกล้งทำดู
            
           ถ้าทำตามวิธีทั้ง ๕ นี้แล้ว แต่ยังไม่หาย วิธีสุดท้ายที่จะแนะนำก็คือ อดทน เท่านั้นเอง ให้กาลเวลาเป็นผู้รักษา เพราะมีสุภาษิตฝรั่งซึ่งเป็นความจริง อยู่เสมอว่า Time cures everything เวลาย่อมรักษาทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนี้             
            ดังกล่าวมานี้คือวิธีแก้ไขทุกข์เฉพาะหน้า ทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ต่อไป จะอธิบายวิธีป้องกันทุกข์ที่ยังไม่เกิด

วิธีป้องกันทุกข์ที่ยังไม่เกิด

            ทุกข์จรที่ยังไม่เกิดอาจจะเกิดแก่เราได้ทุกขณะ เพราะฉะนั้นคุณสมบัติ ข้อแรกที่เราจะพึงมี ก็คือ อย่าประมาท ชีวิตเราไม่มีอะไรแน่นอน นั่งกินข้าว อยู่หน้าบ้านดี ๆ อาจจะมีรถโดยสารเสียหลักพุ่งเข้าชนเอาตายได้ ฉะนั้นต้อง ระมัดระวังอยู่ทุกเมื่อ ทุกข์ทั้งหลายเปรียบเหมือนตัวเชื้อโรคปลิวว่อนอยู่รอบ ๆ ตัวเรา คอยหาจุดอ่อนที่จะเข้าโจมตีเรา ฉะนั้นเราต้องคอยระวังอย่าให้เรา มีจุดอ่อน

            วิธีมิให้มีจุดอ่อนก็คือพยายามเปิดประตูใจของเราไว้ให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังใจ ให้ใจมีสุขภาพจิตสมบูรณ์

            วิธีออกกำลังใจ คือการฝึกข่มจิตโดยการทำสมาธิ ทำให้จิตแน่วแน่มี อารมณ์เดียว ร่างกายเราต้องเคลื่อนไหวจึงจะมีกำลัง ตรงกันข้ามจิตใจต้อง หยุดนิ่งจึงจะมีกำลัง ความร้อนถ้ากระจายจะมีแรงอ่อน แสงถ้ากระจายแรง จะอ่อน แรงต่าง ๆ ถ้ากระจายก็จะอ่อน เหล่านี้คือพลังงาน ภายนอก พลังงาน จิตใจก็เช่นเดียวกัน ถ้ากระจายฟุ้งซ่านสับสนดิ้นรนจะมี กำลังอ่อน ถ้ารวมอยู่จุด เดียวจะมีพลังสูง การทำสมาธิก็คือการพยายามรวมจิตใจให้อยู่ตรงจุดเดียว ไม่ให้คิดไปต่าง ๆ ไม่ให้รับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจชั่วคราว พยายาม ให้จิตรวมอยู่ที่อารมณ์กัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง

         ใจบังคับยาก
การทำสมาธิหรือรวมพลังงานใจนี้ทำได้ยากมาก เพราะ เราปล่อยให้มันเป็นอิสระมาตั้งแต่เด็ก ๆ เราไม่เคยควบคุมดุด่าเฆี่ยนตีมันเลย เหมือนลูกที่เราตามใจเสียจนชิน พอเราจะบังคับบ้างมันก็ขัดขืน จิตใจเราก็เช่น เดียวกัน พอเราจะลองรวมมัน จะรวมได้ชั่วคราวเท่านั้น เราเผลอหน่อย เดียวมันเปิดไปเสียแล้ว กว่าจะรู้ตัวดึงกลับมามันไปเสียไกลแล้ว แต่อย่าท้อถอย เราต้องจ้องตาจับดูมัน บังคับมัน สิ่งที่จะบังคับมันก็คือสติ คือความตื่นตัว รู้ตัวไม่เผลอ ใช้สติคุมใจให้ดี ตอนแรกจะคุมไว้เพียง ๑๐ วินาที ก็ลำบาก แต่เมื่อทำบ่อย ๆ เข้า จะควบคุมได้นานเข้า ๆ ในที่สุดจะสามารถควบคุมได้ ตามประสงค์ ทุกเมื่อทุกหนทุกแห่ง ฉะนั้นควรฝึกทำดู

            เมื่อจิตรวมได้แล้ว จิตจะมีพลังแรง จะรุ่งโรจน์ด้วยแสงจิตคือ ปัญญา เราอาจจะนำเอาพลังจิตนี้ไปทำอะไรก็ได้ นำไปยกภูเขาก็ได้ นำเอาแสง ของมันไปพิจารณาอะไรก็ได้ จะเห็นชัดเห็นจริง แล้วก็หมดความหลงใหลมัวเมา

            กายเราถ้าเราสามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่ก็มีประโยชน์มหาศาล นักกีฬาที่ฝึกออกกำลังจนแข็งแรงและควบคุมกายได้อย่างดี สามารถแข่งกีฬา เป็นแชมป์โลกได้ แต่คนส่วนมากก็คุมกายไม่ได้ วาจาของเราถ้าเราฝึกให้ดี ควบคุมได้เต็มที่ เราอาจจะเป็นนักพูดชั้นยอดได้ แต่คนส่วนมากก็คุมวาจา ยังไม่ได้ ใจของเราถ้าเราคุมได้ก็มีกำลังเต็มที่จะมีประโยชน์มหาศาล เราจะเป็น นักคิดชั้นยอด นักจำชั้นยอด นักวิพากษ์วิจารณ์ชั้นยอด ฉะนั้นจึงมีค่ามาก ยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ หมด เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่เหลือวิสัย

            เตรียมใจรับทุกข ์ เมื่อเรารวมใจได้แล้ว ใจมีพลังสูงแล้ว มีแสงสว่าง แล้วก็ให้น้อมนำใจนั้นไปพิจารณาดูเหตุผลของทุกข์ จนเห็นจริงแจ้งชัด คือ พิจารณาว่า ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากอะไร ? อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ? จะจัดการ แก้ไขเหตุอย่างไร ? เราทราบแล้วว่า ทุกข์จรทั้งหลายเกิดจาก
๑ . พลัดพรากจากคนรัก ของรัก
๒ . ประสบกับคนและของไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจ
๓ . ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมหวัง

          
เราจะเห็นว่า โดยย่อเหตุของทุกข์มี ๓ คือ รัก เกลียด หวัง ตราบใด ที่คนเรายังมี ๓ อย่างนี้ ตราบนั้นก็ยังจะต้องเผชิญกับทุกข์ ยิ่งรักมาก เกลียดมาก หวังมาก ก็ยิ่งทุกข์มาก รักน้อย เกลียดน้อย หวังน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่หวังเลยก็ไม่ทุกข์เลย แต่คนธรรมดาสามัญเราที่จะไม่ให้มีรัก มีเกลียด มีหวังเลยนั้นไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมีเท่ากัน ถ้าทุกคน มีเท่ากัน คนก็เหมือนกันหมด แต่ความจริงก็ปรากฏอยู่ว่า บางคนพลาดรัก แล้วฆ่าตัวตาย บางคนพลาดรักแล้วทุกข์มากแต่ไม่ฆ่าตัวตาย บางคนพลาดรัก แล้วทุกข์นิดหน่อย บางคนพลาดรักแล้วอยู่ได้อย่างสบาย ๆ ฉะนั้นจิตใจคนก็ต่าง กัน บางคนเล่นกีฬาแพ้ ชกต่อยคู่แข่งขัน บางคนแพ้แล้วอาจจะทุกข์มากแต่ไม่ถึง กับชกคู่แข่งขัน บางคนทุกข์นิดหน่อย บางคนยิ้มแย้มแจ่มใสตรงเข้าไปแสดง ความยินดีกับคู่ต่อสู้ ฉะนั้นมันจึงสำคัญอยู่ที่นํ้าใจนักกีฬา

นํ้าใจนักกีฬา

            เราต้องฝึกมีนํ้าใจนักกีฬาไว้ เพราะโลกนี้คือสนามกีฬา เราเกิดมา ในโลกเพื่อเล่นกีฬา ธรรมดากีฬามีผลเพียง ๒ อย่าง คือถ้าไม่ชนะก็แพ้ ถ้าเรารักที่จะเล่นกีฬา เราต้องพร้อมที่จะเผชิญกับผล ๒ อย่างนี้ เราเลือกเอา ชนะอย่างเดียวไม่ได้ แม้แต่แชมเปี้ยนที่เก่งที่สุดก็ยังมีเวลาแพ้
            ถ้าเราจะเล่นกีฬารัก เราต้องเตรียมพร้อม เพื่อความสมรักและ พลาดรัก
            ถ้าเราจะเล่นกีฬาหวัง ต้องเตรียมพร้อม เพื่อความสมหวังและผิดหวัง

ต้องรู้หลักธรรมดา

        พูดโดยย่อก็คือต้องรู้และเข้าใจกฎธรรมดา กฎธรรมดามีอยู่ว่า ทุกสิ่ง เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ถาวร เปลี่ยนแปลง กลับกลายอยู่ตลอดเวลา เหมือน กระแสนํ้าซึ่งไหลไปเรื่อย ๆ ฉะนั้น เมื่อเรารักเราหวัง บางทีก็สมรักสมหวัง บางทีก็ผิดหวัง บางทีก็ได้สิ่งที่ไม่หวัง เมื่อความจริงมันมีอยู่เช่นนี้ เราก็ยอมรับ กฎธรรมดาเสีย อย่าไปฝืนกฎธรรมดา การที่เราเกิดทุกข์นั้น เพราะเราไม่ยอมรับ รู้กฏธรรมดา เราอยากให้โลกเป็นไปตามความต้องการของเรา เหมือนเด็ก ร้องไห้ อยากได้พระอาทิตย์ พระจันทร์ ฉะนั้นถ้าเราทุกข์ มันก็เป็นความผิด ของเราเอง ไม่ใช่ความผิดของโลก นี้คือวิธีป้องกันทุกข์ว์ล่วงหน้า เมื่อเรา เตรียมใจไว้เช่นนี้ หากทุกข์เกิดขึ้นเราก็ไม่ทุกข์มาก เพราะเรารู้ล่วงหน้า อยู่แล้ว

 
Top