| home | บอกกล่าว | ทำดีเพื่อความดี | ผู้รู้แห่งธิเบต | เมื่อไปเยือนเมืองตานี | ประวัติหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด |
| พระพุทธศาสนาสำหรับผู้เริ่มศึกษา | คุณสมบัติของนักปฏิบัติธรรม ๔ ประการ | ธรรมะในมิลินทปัญหา | รายนามผู้บริจาค |


พระพุทธศาสนาสำหรับผู้
เริ่มศึกษา ตอนที่ ๒๒

หลักความเชื่อ : เรื่องภพภูมิต่าง ๆ


 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแสง จันทร์งาม

 
 
 
๒๒ . สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
 
 

            ในบรรดาสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น นั้น สวรรค์ชั้นที่ ๒ คือ ชั้นดาวดึงส์ ( ตาวติส - อ่านว่า ตาวะติงสะ ) เป็นชั้นที่ชาวพุทธไทยรู้จักดีกว่าชั้นอื่น ๆ เพราะเหตุผล ๓ ประการ คือ
            ๑ . เป็นที่อยู่ของพระอินทร์
            ๒ . เป็นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
            ๓ . เป็นสวรรค์ชั้นที่มีกล่าวถึงมากที่สุดในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

 
 
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นที่อยู่ของพระอินทร์
 
 

            พระอินทร์ ( สันสกฤต อ่านว่า อินดระ ) เป็นเทวราชา ปกครองเทพ ทั้งปวงในสวรรค์ชั้นนี้ ภาษาบาลีเรียกว่า อินทะ ( ในล้านนาออกเสียงว่า อินต๊ะ นิยมเอามาตั้งเป็นชื่อ ผู้ชายด้วย เช่น นายอินต๊ะ หนานอินต๊ะ ครูบาอินต๊ะ เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการตั้งนามสกุล หนานอินต๊ะ เลยได้รับนามสกุลว่า อินต๊ะพันธุ์ บ้าง อินต๊ะวงศ์ บ้าง สืบมา )

            อินทระ เป็นเทพเก่าแก่มากองค์หนึ่งของชาวอินโดอารยัน มีมาก่อนสมัย พุทธกาลเป็นพัน ๆ ปี มีมาตั้งแต่สมัยพระเวท ชาวอินโดอารยันเคารพนับถือ พระอินทร์ มาตั้งแต่เป็นเผ่าเร่ร่อนอยู่ตามทุ่งหญ้าในเอเซียกลาง เป็นเทพที่ชาว อินโดอารยันเคารพนับถือ และเกรงกลัวมาก เพราะพระอินทร์มีสายฟ้าเป็นอาวุธ เวลามีพายุฝน ท่านอาจจะส่งสายฟ้าลงมาทำลายชีวิตของคนและสัตว์ ให้ตายได้ที่เราเรียกว่าฟ้าผ่า พระอินทร์ก็เช่นเดียวกับเทพในพระเวททั้งหลาย คือเป็น อมตะหรืออมร แปลว่าผู้ไม่ตาย

 
 
พระอินทร์ของชาวพุทธ
 
 

            เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดีย และเมื่อมีชาวฮินดูที่นับถือ พระอินทร์ และเทพอื่น ๆ ของพระเวทหันมานับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น พระพุทธเจ้าหาได้ทรงห้ามปรามมิให้เขานับถือเทพเหล่านั้นแต่อย่างใดไม่ พระองค์ยังคงให้เขานับถือเทพเหล่านั้นต่อไป แต่เพื่อมิให้ขัดกับหลักการของ พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงเปลี่ยนเทพเหล่านั้น จากเทพพราหมณ์ ให้มา เป็นเทพพุทธเสีย การเปลี่ยนเทพมิใช่ พุทธให้เป็นพุทธนี้ ทรงกระทำครั้งใหญ่ หลังจากตรัสรู้แล้ว 15 ปี มีบันทึกไว้ในมหาสมยสูตร แห่งพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกายว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นิโครธารามใกล้กรุงกบิลพัสดุ ในคราวนั้น มีเทวดานับจำนวนไม่ถ้วนในสากลจักรวาลมาเฝ้าพระพุทธองค์รวมทั้งเทวดาต่าง ๆ ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ชาวอินเดียเคารพนับถือกันอยู่ ในสมัยนั้น ข้อที่น่าสังเกตคือว่า เทวดาเหล่านั้น ไม่ได้มาเพื่อฟังธรรม และพระบรมศาสดา ก็มิได้ทรงแสดงธรรมใด ๆ โปรดเทวดาเหล่านั้น ในพระสูตรนั้นบอกไว้แต่เพียงว่า เทวดาเหล่านั้นมาเพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้าเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า เทวดาทั้งหมดนั้น เป็นชาวพุทธแล้ว จึงมาเคารพกราบไหว้พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ชาวพุทธจึงอาจเคารพบูชาเทวดาเหล่านั้นได้

            ในกรณีของพระอินทร์ก็เช่นเดียวกัน พระอินทร์ ในพระเวทเป็นเทพ ที่ดุร้าย มีสายฟ้าเป็นอาวุธ และเป็นอมตะ ไม่รู้ จักตาย แต่เมื่อชาวพุทธจับ พระอินทร์มาเปลี่ยนเป็นชาวพุทธแล้วพระอินทร์ก็มีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไป คือแทนที่จะเป็นเทพผู้ โหดร้าย คอยทำลายคนและสัตว์ด้วยสายฟ้ากลับกลาย เป็นเทพแบบพุทธประกอบด้วยความเมตตากรุณา คอยช่วยเหลือคนที่กำลัง อยู่ ในมหันตทุกข์ ให้พ้นจากความทุกข์ ตามปกติพระอินทร์จะประทับนั่งอยู่บนแท่นปัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ พระแท่นหินอ่อน ซึ่งเป็นหินอ่อนที่แท้จริง คือ เวลา ปกติ เมื่อพระอินทร์ ประทับกายลงนั่ง แท่นหินอ่อนนั้นจะยุบลงไปคล้ายกับ ที่นั่งสปริง เวลาไม่มีพระอินทร์ พระแท่นนั้น ก็จะดีดตัวขึ้นมาตามเดิม แต่ถ้า เมื่อใดมีคนผู้มีบุญบารมีในโลกมนุษย์เกิดความทุกข์หนัก พระแท่นปัณฑุกัมพล สิลาอาสน์ นั้นก็จะแสดงอาการแข็งกระด้าง และเกิดความร้อนขึ้นมาจนนั่งไม่ได้พระอินทร์ ก็จะรู้ทันทีว่าได้เกิดเหตุร้ายขึ้นในโลกมนุษย์ และมนุษย์ผู้มีปัญหากำลัง ต้องการการช่วยเหลือจากพระองค์อย่างรีบด่วน พระองค์จะทอดทิพยเนตร ลงมาตรวจดูทันทีว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน มีความเดือดร้อนเรื่องอะไร เมื่อทราบ แล้วก็จะเสด็จลงมาช่วยโดยวิธีที่เหมาะสมแก่ กรณี ในบางกรณี พระองค์ก็ทรงสั่งการให้เทพผู้ช่วยของพระองค์นามว่า วิสสุกรรมเทพบุตรบ้าง วิสุกรรมบ้าง เวสสากรรมบ้าง วิศณุกรรมบ้าง ลงมาจัดการแทน วิสสุกรรมเทพบุตร นี้เป็น ทั้งสถาปนิก นักออกแบบ นักวางผังเมืองและเป็นมัณฑนากรด้วย เมื่อเสร็จธุระ ในการช่วยมนุษย์แล้ว พระอินทร์ ก็เสด็จกลับคืนสู่สวรรค์ แต่คิดว่าคงพักผ่อน ได้ไม่นานนัก พระแท่นก็คงแข็งกระด้างขึ้นมา แล้วพระองค์ก็จะต้องลงไปช่วยมนุษย์อีก เพราะมนุษย์ที่มีทุกข์ ย่อมมีมากเต็มโลกอยู่แล้ว นับว่าพระอินทร์เป็น เทพที่ทำงานหนักที่สุดก็ว่าได้

            ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา มีคำบรรยายไว้ว่า พระอินทร์ลงมา รับใช้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ สาวกเป็นครั้งคราวเวลาพระพุทธเจ้าประชวร พระอินทร์จะลงมาปรนนิบัติพระพุทธองค์ด้วยความรักเคารพอย่างสูงยิ่ง ถึงขนาดเอากระโถนคูถ ( อุจจาระ ) ของพระพุทธองค์เทินศีรษะออกไปเทข้าง นอกทีเดียว เรื่องแบบนี้ ถ้าเป็นความจริง ก็แสดงให้เห็นว่าพระอินทร์ราชาแห่งเทพ เคารพรักในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างสูงยิ่ง แม้แต่คูถก็มิได้รังเกียจ กลับยกขึ้นเทินไว้บนศีรษะเสียอีก แต่ถ้าไม่เป็นความจริง ก็แสดงให้เห็นว่า ชาวพุทธรุ่นหลัง ( รุ่นแต่งคัมภีร์ อรรถกถา ) มุ่งจะเหยียดชาวฮินดูว่าแม้แต่เทพ ที่ชาวฮินดูเคารพบูชาสูงสุดองค์หนึ่ง ก็ยังมารับใช้พระพุทธเจ้า ถึงขนาดเอา กระโถนคูถ เทินศีรษะไปทิ้งได้ การยกย่องเทพของตนให้สูง และเหยียดเทพของ ศาสนาอื่นให้ตํ่านี้ เป็นวิธีปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป ระหว่างศาสนาที่เป็นคู่แข่งกัน

 
 
พระอินทร์เคยเป็นมนุษย์มาก่อน
 
 

            พระอินทร์ของศาสนาพราหมณ์เป็นอมตะ มีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ ดังกล่าว แล้วแต่เมื่อชาวพุทธจับเอาพระอินทร์ มาเป็นชาวพุทธ ก็ต้องปรับชีวิตของ พระอินทร์ ให้เข้ากับหลักการของศาสนาพุทธ คือตามหลักศาสนาพุทธนั้น สัตว์ทั้งปวงในภพทั้ง ๓ ไม่มีใครเป็นอมตะ ต่างตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น ต้องมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป พระอินทร์ก็เช่นเดียวกัน

            ตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา นามจริงของพระอินทร์ คือ สกฺโก หรือท้าวสักกะ อินทะ เป็นตำแหน่งแปลว่า จอม หรือยอด เพราะฉะนั้น ที่ใดมีคำว่า สกฺโก มักจะมีคำว่า เทวานมินฺโท กำกับอยู่เสมอ แปลว่า ท้าวสักกะ ผู้ ้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย มีเรื่องเล่าไว้ว่า ท้าวสักกะนั้น เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในโลกเป็นชายหนุ่มชื่อ มฆะ หรือ มฆมานพ หนุ่มมฆะเป็นคนมีจิตใจฝักใฝ่ในการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์วันหนึ่งเขาเห็นชาวบ้านชอบไปนั่งพักผ่อนใต้ต้นไม้ใหญ ่ต้นหนึ่ง พวกเด็ก ๆ ก็ชอบไปเล่นที่นั้นด้วย มฆมานพจึงสละเวลามาปรับปรุง พื้นที่บริเวณนั้น โดยการกำจัดวัชพืช ปรับพื้นดินให้ราบเรียบ ขนทรายมาเกลี่ยลง บนพื้น ทำให้ที่นั่นกลายเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ ใหญ่ต่าง มาพักผ่อนหย่อนใจ ทุกคนต่างออกปากสรรเสริญนํ้าจิตนํ้าใจและผลงานของ หนุ่มมฆะ ทำให้เขาเกิดกำลังใจในการพัฒนามากขึ้น ถึงขนาดทำเป็นสวนเต็ม ไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับอันสวยงาม ต่อมามีชายหนุ่ม ๓๐ คน เลื่อมใสศรัทธา ในงานของเขา จึงอาสาสมัครมาช่วยงาน เมื่อมีกำลังคนมากขึ้น มฆมานพ ได้ เริ่มพัฒนาใหญ่ขึ้น เช่น การขุดบ่อนํ้า ขุดสระนํ้า สร้างถนนหนทางและ สร้างศาลาให้คนเดินทางได้พักอาศัย

            ต่อมาเขาได้แต่งงานมีภรรยาถึง ๔ คน ( บังเอิญจำนวนไปตรงกับ จำนวนภรรยา ๔ คนที่ชายชาวมุสลิมได้รับอนุญาตให้มีได้พอดี ) มีชื่อว่า นางสุธรรมา นางสุนันทา นางสุจิตรา และนางสุชาดาตามลำดับ ๓ นางแรก ได้ช่วยงานพัฒนาชุมชนของมฆมานพอย่างแข็งขัน เว้นแต่นางสุชาดาซึ่งสวยกว่า เพื่อนและเป็นที่โปรดปรานของมฆมานพเป็นพิเศษ จึงไม่ทำอะไร เอาแต่กินนอน และแต่งตัว

            เมื่อสิ้นชีพทำลายขันธ์ มฆมานพพร้อมทั้งภรรยา ๓ คนแรกและ สหายทั้ง ๓๐ คน ก็ได้ไปเกิดเป็นเทพในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ ภรรยาทั้ง ๓ ก็ได้เป็นภรรยาของท้าวสักกะตามเดิม ส่วนนางสุชาดานั้นหายไป เมื่อเห็นภรรยา คนหนึ่งขาดบัญชีไป ท้าวสักกะจึงตรวจค้นหาด้วยทิพยเนตร และได้พบว่าเธอ ได้ไปเกิดเป็นนกกะยางจับปลากินอยู่ที่บึงแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยาทั้ง ๓ พระอินทร์จึงตั้งชื่อหอประชุมสวรรค์ว่า สุธรรมา ตั้งชื่อสวนสวรรค์ว่า สุนันทา ตั้งชื่อสระนํ้าสวรรค์ว่า สุจิตรา

 
 
พระอินทร์สนใจในพระธรรม
 
 

             พระอินทร์หรือท้าวสักกะนั้น นอกจากจะเคารพรักในพระพุทธเจ้า อย่างสูงแล้ว ยังสนใจศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังอีกด้วย ในพระไตรปิฏก มีหมวดหนึ่งที่ว่าด้วยปัญหาที่พระอินทร์ นำมาทูลถาม พระพุทธเจ้าโดยเฉพาะเรียกว่า สักกปัญหา เมื่อพิจารณาดูเนื้อความของปัญหา เหล่านั้นแล้ว พบว่ามีเนื้อหาลึกซึ้งมากทีเดียว แสดงให้เห็นภูมิปัญญาที่สูงส่ง ของท่าน ในทีฆนิกาย เล่ม ๒ แห่งพระสุตตันตปิฎกมีข้อความกล่าวว่า พระอินทร์ ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน

 
 
พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรมที่ชั้นดาวดึงส์
 
 

            เหตุผลอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นที่รู้จักกันดีใน ระหว่างชาวพุทธไทยก็คือว่า พระบรมศาสดาของเราได้เสด็จขึ้นไปแสดง พระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ ๗ หลังจาก พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ฝ่ายพระพุทธมารดาเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วได้ ไปเกิดเป็น เทพบุตร ( เพศชาย ) ในสวรรค์ ชั้นดุสิต ซึ่งเป็นชั้นที่ ๔ แต่คงจะมีการนัดหมาย กันเป็นพิเศษ เพื่อให้ลงมาฟังพระอภิธรรมที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

            เกี่ยวกับเรื่องการแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาที่ชั้นดาวดึงส์นี้มีเรื่องที่จะต้องขบคิดกันมาก เพราะวันเวลาของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กับของโลก มนุษย์แตกต่างกันมาก กล่าวคือ ๑๐๐ ปีในโลกมนุษย์เท่ากับ ๑ วันของชั้นดาวดึงส์ ถ้า ๑ เดือน ( ๓๐ วัน ) ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จะเท่ากับ ๓ , ๐๐๐ ปีในโลกมนุษย์ ถ้า ๓ เดือน ( ๙๐ วัน ) ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จะเท่ากับ ๙ , ๐๐๐ ปีในโลกมนุษย์ ในคัมภีร์อรรถกถาท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาแสดงธรรมอยู่ ใน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเวลา ๓ เดือน ปัญหาก็คือว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้ เกณฑ์วัดเวลาแบบสวรรค์หรือแบบมนุษย์ ถ้าทรงใช้เวลาแบบมนุษย์จะต้องใช้เวลาประมาณ ๙ , ๐๐๐ ปี จึงจะแสดงพระอภิธรรมจบ หมายความว่า ตั้งแต่เวลา ทรงเริ่มแสดงมาจนถึงบัดนี้ ( พ . ศ . ๒๕๕๐ ) พระองค์ก็เพิ่งแสดงมาเป็นเวลา ๒๕๒๘ ปีเท่านั้น ยังเหลือตั้ง ๖๔๖๒ ปี เวลานี้พระพุทธองค์ ต้องยังทรงแสดง พระอภิธรรมอยู่เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธองค์ทรงใช้เวลา ตาม มาตรฐานของมนุษย์ แต่ถ้าจะบอกว่า พระองค์ทรงใช้เวลาตามมาตรฐานของ สวรรค์ก็มีปัญหาอีกเพราะเวลา ๓ เดือน ในโลกมนุษย์จะมีความยาวประมาณ ๓ ชั่วโมงในสวรรค์เท่านั้น คงไม่เพียงพอแน่ ๆ สำหรับการแสดงอภิธรรมอันมี เนื้อหาลึกซึ้งและละเอียดพิศดารเช่นนั้น

            แต่ตามนัยในพระคัมภีร์ท่านก็บอกไว้ชัดเจนว่าพระพุทธองค์ทรง ใช้เวลา ๑ พรรษาหรือ ๓ เดือน แน่ ๆ ในสวรรค์ และบอกด้วยว่า เมื่อถึง เวลาบิณฑบาต พระองค์ก็เสด็จลงมาบิณฑบาตในโลกมนุษย์ด้วย เมื่อทรงแสดง พระอภิธรรมจบ ครบ ๓ เดือน พระองค์ก็เสด็จลงมาจากสวรรค์โดยบันใดเงิน บันไดทองที่พระอินทร์เนรมิตถวาย ลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ มีพระอินทร์ พระพรหมและทวยเทพทั้งหลาย ในแสนโกฏิจักรวาลตามลงมาถวายการ อารักขาเป็นการเอิกเกริก ชาวพุทธไทยได้ทำพิธีเฉลิมฉลองโอกาสวันสำคัญยิ่งนี้ ด้วยการทำบุญตักบาตรกันเป็นการใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหนะ ( เสด็จ ลงมาจากเทวโลก ) นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อผู้แต่งกำลังแต่งเรื่องนี้ ท่านคิดถึง ๓ เดือนของโลกมนุษย์อย่างแน่นอน โดยลืมไปว่าเวลาของโลก มนุษย์กับเวลาของโลกสวรรค์นั้นมีเกณฑ์ วัดแตกต่างกันอย่างมากมาย

            เพราะเหตุนี้และเหตุผลอื่น ๆ อีกบางประการ นักปราชญ์ ในโลกฝ่าย ตะวันตกที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เช่น ศาสตราจารย์ Rhys Davids และแม้นักปราชญ์ ไทยบางท่าน เช่นท่านพุทธทาสเป็นต้น จึงลง ความเห็นว่า เดิมทีเดียว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีเพียง ๒ ปิฎกเท่านั้น คือพระวินัยและพระสูตร พระอภิธรรมเพิ่งจะได้รับการจัดเข้าเป็นปิฎกที่ ๓ ในการทำสังคายนา ครั้งที่ ๓ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อประมาณ พ . ศ . ๒๓๕ นี้เอง ท่านให้เหตุผลดังต่อไปนี้
            ๑ . พระวินัยและพระสูตร บอกที่มาที่ไปไว้ชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าทรง แสดงแก่ใคร ที่ไหน ปรารภเหตุอะไร แต่พระอภิธรรมไม่บอกที่มาที่ไปไว้แต่พระอรรถกถาจารย์ อยากให้คนเชื่อว่า เป็นพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้จริง จึงอ้างว่าพระพุทธองค์ ทรงแสดงโปรดพระพุทธมารดา ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งก่อให้ เกิดปัญหาเรื่องเวลาของสวรรค์หรือเวลาของ มนุษย์ดังกล่าว
            ๒ . ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ และ ๒ มีการกล่าวถึงการสังคายนา พระวินัยและพระธรรมเท่านั้น ไม่มีพระอภิธรรม
            ๓ . ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ มีการระบุไว้ชัดเจนว่า พระอุบาลี เป็นวิทยากรฝ่ายพระวินัย พระอานนท์ เป็นวิทยากรฝ่ายพระสูตร ไม่ปรากฏว่า มีใครเป็นวิทยากรฝ่ายพระอภิธรรม แม้ฝ่ายพระอภิธรรมจะอ้างว่า พระมหา กัสสปะเป็นวิทยากรฝ่ายพระอภิธรรม ก็ไม่มีหลักฐานเก่า ๆ ยืนยัน
            ๔ . คัมภีร์ กถาวัตถุ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๗ คัมภีร์ อภิธรรมมีหลักฐาน ระบุชัดเจนว่า พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระแต่งขึ้นและนำเข้าเสนอให้ที่ประชุมสงฆ์ที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ รับรอง แสดงว่าคัมภีร์ อื่น ๆ ก็มีผู้แต่งขึ้นก่อนหน้านั้น และที่ประชุมสงฆ์ ยอมรับทั้งหมดในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓
            ๕ . เนื้อหาของพระอภิธรรมไม่มีอะไรใหม่เพียงแต่นำเอาหลักคำสอน สำคัญในพระสูตรมาอธิบายแยกแยะออกไปอย่างละเอียดเท่านั้น
            ๖. ภาษาบาลีของพระอภิธรรมเป็นภาษาบาลีรุ่นหลัง สมัยเดียวกับพระเจ้าอโศก อักษร ร สมัยนี้เริ่มกลายเป็นอักษร ล เช่น อรมมฺณํ ในพระอภิธรรมเขียนเป็น อาลมฺพณํ บนศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก ราชา เขียนเป็นลาชา เป็นต้น

 
 

Top