| home | บอกกล่าว | ทำดีเพื่อความดี | ผู้รู้แห่งธิเบต | เมื่อไปเยือนเมืองตานี | ประวัติหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด |
| พระพุทธศาสนาสำหรับผู้เริ่มศึกษา | คุณสมบัติของนักปฏิบัติธรรม ๔ ประการ | ธรรมะในมิลินทปัญหา | รายนามผู้บริจาค |


 
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม
 
 


หมวดเมณฑกปัญหา (ปัญหาทางตัน)
วรรคที่ ๒


 
 

๗ . ปัญหาว่าด้วยพระโสดาบันฆราวาสยังไหว้ระภิกษุสามเณรที่ยังเป็นปุถุชน

            พระเจ้ามิลินท์ทรงตั้งปัญหาว่า ในที่แห่งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรง แสดงแก่วาเสฏฐพราหมณ์ว่า โลกุตรธรรรม ๙ เป็นธรรมอันสูงสุดทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า แต่ในที่อีกแห่งหนึ่ง พระองค์กลับแสดงว่าคฤหัสถ์ ผู้ เป็นอุบาสก แต่เป็นพระโสดาบันดับสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว ปิดประตูอบายภูมิ ๔ ได้แล้ว ควรไหว้และลุกขึ้นยืนแสดงความเคารพต่อพระภิกษุและสามเณรที่ยังเป็นปุถุชนแสดงว่า พระพุทธดำรัสทั้ง ๒ นี้ ขัดแย้งกัน เพราะถ้าโลกุตรธรรม ๙ เป็นสิ่งสูงสุด พระโสดาบันแม้ที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้ได้บรรลุโลกุตรธรรม คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลแล้ว ย่อมอยู่ในฐานะสูงส่งกว่าพระภิกษุสามเณร ที่ยังเป็นปุถุชน ควรที่จะให้พระภิกษุสามเณรปุถุชนไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบัน จึงจะถูกต้อง

            พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า ฆราวาสที่เป็นพระโสดาบันยังกราบไหว้ พระภิกษุสามเณรที่เป็นปุถุชนก็เพราะเห็นว่าท่านเป็นสมณะ ประกอบด้วยคุณสมบัติภายใน ๒๐ ประการคือ             ๑ . เสฏฐภูมิสโย เป็นผู้ตั้งอยู่ในภูมิอันประเสริฐ ประกอบด้วยกรุณา และความสัตย์เป็นต้น ( ศัพท์นี้ ฉบับแปลของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏ ราชวิทยาลัย " มีนิยมประเสริฐที่สุด ได้แก้ความมุ่งต่อพระนฤพาน " ฉบับภาษาอังกฤษของ สมาคมบาลีปกรณ์ และฉบับของ N.K.G Mendis แปลตรงกันว่า " รูปแบบที่ดีที่สุดแห่งการระงับยับยั้งตนเอง " )
            ๒ . อคฺโคนิยโม ( นิยโม ) นิยมในกิจอันประเสริฐ ( ฉบับภาษาอังกฤษ ของสมาคมบาลีปกรณ์ และของ Mendis แปลตรงกันว่า การควบคุมตนเอง ชนิดที่ดีที่สุด )
            ๓ . จาโร มีความประพฤติดีงาม ( ฉบับภาษาอังกฤษของสมาคมบาลีปกรณ์ และของ Mendis แปลตรงกันว่า " ความประพฤติชอบ ")
            ๔ . วิหาโร มีวิหารธรรมและอิริยาบถอันสมควร ( ฉบับแปลของมหามกุฏฯ แปลว่า มีธรรม เครื่องอยู่ )
            ๕ . ส ญฺ ญโม สำรวมอินทรีย์ ( ฉบับภาษาอังกฤษของสมาคมบาลีปกรณ์ และของ Mendis แปลว่า มีอากัปกิริยาสงบเสงี่ยม )
            ๖ . สํวโร สำรวมในปาฏิโมกข์สังวรศีล ( ฉบับของสมาคมบาลีปกรณ์ และของ Mendis แปลว่าควบคุมการกระทำและคำพูดได้ฉบับมหามกุฏฯ แปลว่า ความระวัง )
            ๗ . ขนฺติ ความอดทน
            ๘ . โสรจฺจํ ความเป็นผู้สงบเสงี่ยม
            ๙ . เอกันตาภิรติ ยินดีในธรรมเป็นอันแท้
( ฉบับมหามกุฏฯ แปลว่า ความยินดียิ่งในความเป็นผู้เดียว ฉบับภาษาอังกฤษทั้ง ๒ เล่มแปลว่าความรัก ในวิเวก )
            ๑๐ . เอกันตจริยา ประพฤติธรรมเที่ยงแท้ ( ฉบับภาษาอังกฤษทั้ง ๒ ว่า ดำรงตนอยู่ ในวิเวก ฉบับมหามกุฏฯ แปลว่า ประพฤติในความเป็นผู้เดียว คิดว่า ความหมายแรกที่ว่าประพฤติธรรมเที่ยงแท้ ( ฉบับกรมศิลปากร ) น่าจะถูกกว่า เพราะคำว่า เอกนฺต ตรงกับคำว่า อติมตฺต เแปลว่า ล้ำ ยิ่ง หนักหนา เป็นคำคุณ ศัพท์ ไม่เกี่ยวกับความเป็นผู้เดียวหรือเปล่าเปลี่ยวแต่อย่างใด )
            ๑๑ . ปฏิสลฺลินี มีปกติเข้าที่หลีกเร้น
            ๑๒ . หิริ มีความละอายบาป
            ๑๓ . โอตฺตปฺป มีความเกลียดกลัวบาป
            ๑๔ . วิริยํ มีความเพียร
            ๑๕ . อปฺปมาโท มีความไม่ประมาท
            ๑๖ . อุทฺเทโส บอกกล่าวเล่าเรียนบาลี ( พระไตรปิฏก )
            ๑๗ . ปริปุจฺฉา เล่าเรียนบอกกล่าวอรรถกถา
( ฉบับอังกฤษของสมาคม บาลีปกรณ์ ว่า ไต่ถามท่านผู้รู้ ในพระธรรมวินัย Mendis ว่าการตรวจสอบโดย ครูและอุปัชฌาย์ของตน ฉบับมหามกุฏฯ ว่า การเรียนอรรถกถาและฏีกา )
            ๑๘ . สีลาภิรติ ความยินดีในคุณธรรมมีศีล เป็นต้น
            ๑๙ . นิราลยตา ความไม่มีความอาลัย
            ๒๐ . สิกขาปทปาริปูรี เป็นผู้บำเพ็ญสิกขาบทให้เต็มบริบูรณ์
ส่วนเครื่องหมายภายนอกของสมณะนั้นคือ
            ๒๑ . ภณฺทาภาโร เป็นผู้ทรงผ้ากาสาวพัตร
            ๒๒ . มุณฺฑภาโว เป็นผู้มีศีรษะโล้น
            
พระนาคเสนอธิบายเพิ่มเติมต่อไปว่า สมณะประกอบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เต็มบริบูรณ์แล้ว ไม่ขาดตกบกพร่อง กำลังดำเนินไปเพื่ออเสขภูมิ เพื่อพระอรหัตผล

            ภิกษุเหล่านั้นอยู่ ในฐานะเสมอด้วยพระอรหันต์ขีณาสพ แต่อุบาสก ผู้โสดาบันไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายมีสิทธิฟังพระปาฏิโมกข์ แต่อุบาสก ผู้เป็นโสดาบันไม่มี ภิกษุมีสิทธิเป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร ทำให้พระศาสนาเจริญมั่นคง แต่อุบาสกผู้เป็นโสดาบันไม่มีสิทธิเช่นนั้น ภิกษุมีสิทธิและหน้าที่ในการรักษาสิกขาบทน้อยใหญ่ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แต่อุบาสก ที่เป็นโสดาบัน ไม่มีอำนาจหน้าที่เช่นนั้น ภิกษุเข้าถึงเพศแห่งสมณะ ถูกต้องตาม พระประสงค์ของพระพุทธเจ้า คฤหัสถ์ แม้จะเป็นพระโสดาบัน ก็ยังอยู่ห่างไกล จากเพศเช่นนั้น ภิกษุผู้ทรงเพศสมณะ เป็นผู้ ตัดเล็บและมีหนวดเคราอันตัดถอน แล้ว ( อุปรุฬหนขโลโม ศัพท์นี้ฉบับแปลของมหามกุฏฯ แปลว่า มีขนในรักแร้รุงรัง แล้ว ส่วนฉบับอังกฤษทั้ง ๒ แปลว่า ปลงผมและหนวดแล้ว ฉบับมหามกุฏฯ น่าจะ ผิด เพราะโดยทั่ว ๆ ไปนั้น การมีขนรักแร้รุงรังและมีหนวดเครายาวนั้น เป็น ลักษณะของฤาษีดาบสโยคี และนักบวชในศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่ พระภิกษุใน พระพุทธศาสนา ) ถึงจะไม่ได้ลูบไล้ด้วยของหอมคือศีล แต่คฤหัสถ์แม้จะเป็น พระโสดาบัน ก็ยังหลงติดอยู่กับเครื่องประดับอัญญมณี และเครื่องแต่งตัวที่สวย งาม เพราะอาศัยเหตุผลดังกล่าวมา คฤหัสถ์ผู้ เป็นพระโสดาบันจึงเห็นว่าเป็นการสมควร ที่ควรจะกราบไหว้และลุกขึ้นยืนต้อนรับพระภิกษุสามเณรผู้ยังเป็นปุถุชน

            พระนาคเสนได้ยกตัวอย่างประกอบอีกว่า เหมือนเจ้าชายผู้ได้ศึกษา ศิลปวิทยายุทธจากปุโรหิตาจารย์ประจำราชสกุล ต่อมาแม้เมื่อเจ้าชายนั้นได้รับ พระบรมราชาภิเศกเป็นพระราชาแล้ว ก็ยังคงเคารพปุโรหิตนั้นในฐานะเป็นอาจารย์อยู่อย่างเดิม

            ผลปรากฏว่า พระเจ้ามิลินท์ทรงพอพระทัย ในการตอบชี้แจงของ พระนาคเสน

๘ . ปัญหาเกี่ยวกับการแตกแยกของพุทธบริษัท

            พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามมีใจความว่า ชาวพุทธกล่าวกันว่าพระตถาคตเจ้า มีพุทธบริษัทที่ใคร ๆ จะทำให้แตกแยกมิได้ดังนี้ แต่ก็มีเรื่องจริงอยู่ว่า พระสงฆ์ ๕๐๐ ถูกพระเทวทัตทำให้แตกแยกจากพระสงฆ์หมู่ ใหญ่ดังนี้ เรื่องทั้ง ๒ นี้ ฟังดูขัดแย้งกันอยู่

            พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า พระสงฆ์ ๕๐๐ ถูกพระเทวทัตทำให้แตกแยกจากคณะสงฆ์จริง แต่ว่าการทำลายนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งเหตุ เครื่องทำลาย เมื่อเหตุเครื่องทำลายมีอยู่ของที่จะทำลายไม่ได้ย่อมไม่ มี เมื่อเหตุ เครื่องทำลายมีอยู่ แม้มารดาย่อมแตกจากบุตร บุตรย่อมแตกจากมารดาบิดา และบุตรย่อมแตกจากกันและกัน พี่น้องชายพี่น้องหญิงย่อมแตกจากกันและกัน สหายย่อมแตกจากสหาย เรือที่สร้างด้วยไม้ท่อนใหญ่ย่อมแตกจากกันเมื่อถูก คลื่นใหญ่ซัด ต้นไม้ใหญ่มีผลอันมีรสหวานย่อมโค่นล้มด้วยแรงพายุใหญ่แม้ทองคำ ย่อมมีสีหม่นหมองไปเพราะเขาเจือปนด้วยโลหะต่าง ๆ

            คำที่ว่า พระตถาคตเจ้าเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ก็ทำลายได้ดังนี้ไม่ใช่ ความประสงค์ของวิญญูชนทั้งหลาย ไม่ใช่ คำถูกอัธยาศัยของพระตถาคตเจ้า ไม่ใช่ความพอใจของบัณฑิตทั้งหลาย คนทั้งปวงต่างสรรเสริญว่า พระตถาคตเจ้ามี บริษัทอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้ดังนี้ เพราะได้ยินได้ฟังมาว่า ในอดีตชาติ เมื่อ พระองค์ยังทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นั้นไม่เคยมีชาติใด ที่พระองค์มีบริษัทแตกแล้ว เพราะพระองค์ได้ลักทรัพย์ของผู้อื่น หรือด้วยการประพฤติไม้เสมอต้นเสมอปลาย หรือแม้แต่ในคำสอนของพระตถาคตเจ้า ๙ หมวดที่เรียกว่า " นวังคสัตถุศาสน์ " ในพระไตรปิฎกนั้น ไม่เคยมีปรากฏในที่ใดเลยว่า บริษัทของพระตถาคตแตกแล้ว เพราะพระโพธิสัตว์ ได้เคยประพฤติชั่วอย่างนั้น ๆ

            ผลปรากฏว่า พระเจ้ามิลินท์ทรงพอพระทัยในคำตอบชี้แจง

          ข้อสังเกต ในปัญหาข้อนี้ พระนาคเสนมิได้ยืนยันว่า ประเด็นทั้ง ๒ มิได้ขัดแย้งกัน แล้วก็นำเอาเหตุผลต่าง ๆ มาสนับสนุนคำตอบของท่านเหมือน ปัญหาข้ออื่น ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังยอมรับเสียด้วยว่า บริษัทของพระตถาคต เจ้ายังอาจแตกแยกกันได้ถ้ามีเหตุปัจจัยต่าง ๆ มาทำให้แตกแยก แล้วก็นำ เอาการแตกแยกระหว่างมารดาบิดากับบุตรเป็นต้น มาเป็นตัวอย่าง และในฉบับ กรมศิลปากร ( หน้า ๕๔๑ ) ยังอ้างด้วยว่า ธรรมชาติทั้งปวงเป็นภินทนธรรม มีสภาวะจะแตกจะทำลายหมดสิ้นไปทั้งนั้น และกล่าวด้วยว่าที่ว่าพระตถาคต เจ้ามีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายมิได้นั้น เป็นถ้อยคำไม่ตรงกับพระธรรมเทศนา ที่พระตถาคตเจ้าตรัสไว้ในไตรลักษณ์

            ส่วนที่พระนาคเสน อ้างอดีตชาติของพระพุทธเจ้าว่า เมื่อบำเพ็ญ บารมีอยู่ ในอดีตชาติ ตั้งตนอยู่ ในสังคหวัตถุ ๔ เป็นอย่างดี ไม่เคยล่วงละเมิด จนเป็นเหตุให้บริษัทบริวารแตกแยกกันนั้น ข้าพเจ้าพยายามคิดแล้วคิดอีกด้วย ปัญญาอันน้อยนิดของตน แต่ก็มองไม่เห็นความเกี่ยวข้องกับการที่พระเทวทัต ทำสงฆ์ ให้แตกแยกกันอย่างไร จึงขอฝากท่านผู้รู้ ไว้วิจัยวิจารณ์ต่อไป

๙ . ปัญหาเรื่องทำบาปโดยรู้ตัวกับทำโดยไม่รู้ตัว

            พระเจ้ามิลินท์ ตรัสถามมีใจความว่า ท่านเองเคยกล่าวว่าผู้ ใดฆ่าสัตว์โดย ไม่รู้บาปมีกำลังกล้าย่อมเกิดแก่ผู้นั้น ส่วนในพระวินัยบัญญัติ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า ภิกษุผู้ ไม่รู้ตัวฆ่าสัตว์ไม่ต้องอาบัติ ดังนี้ ข้อความทั้ง ๒ ฟังดูขัดแย้ง กันอยู่

             พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า ประเด็นทั้ง ๒ มิได้ขัดแย้งกัน เพราะแต่ละประเด็นมีความหมายพิเศษแตกต่ างกัน ประเด็นแรกที่ว่าคนฆ่าสัตว์ โดยไม่รู้ว่าเป็นบาป ย่อมได้บาปมากนั้น หมายความว่า คนที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาปนั้น ย่อมไม่มีความละอายหรือความกลัวต่อบาป ย่อมมีความ ยินดีในบาปอย่างเต็มที่ จึงเผลอตัวทำบาปอย่างเต็มที่ เมื่อทำเต็มที่ก็ย่อมจะได้บาป อย่างเต็มที่เปรียบเหมือนคนไม่รู้ว่าถ่านมีไฟร้อน จึงจับถ่านร้อนเต็มมือย่อมจะ ถูกไฟไหม้มากกว่า ส่วนคนที่รู้ว่าเป็นถ่านร้อน เขาจะจับถ่านด้วยความระมัดระวัง ให้เป็นอันตรายแก่มือน้อยที่สุด

            ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับอาบัติของพระนั้น ทรงแบ่งพระวินัยออกเป็น 2 ประเภท คือสัญญาวิโมกข์ หมายถึงความผิดที่ภิกษุล่วงละเมิดโดยไม่รู้ตัว ( สัญญา = ความรู้สึกตัว วิโมกข์ = พ้น ) ที่พระตถาคตเจ้าตรัสว่า ภิกษุกระทำกรรมชั่ว โดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องอาบัตินั้น ทรงหมายถึงอาบัติประเภทสัญญาวิโมกข์ ) อีกประการ หนึ่งคือ โนสัญญาวิโมกข์ ได้แก่อาบัติที่แม้ไม่รู้ ตัวขณะที่กระทำ ก็ยังต้องอาบัติ เช่น การดื่มสุรา แม้ไม่รู้ว่าเป็นสุรา ดื่มเข้าไปก็ต้องอาบัติ เพราะฉะนั้น กรณีทั้ง ๒ จึงมีจุดมุ่งหมายต่างกัน กรณีแรกใช้กับคนทั่วไป กรณีหลังใช้กับพระวินัยของ พระภิกษุเท่านั้น

            พระเจ้ามิลินท์ ทรงพอพระทัยในคำตอบของพระนาคเสน

๑๐ . ปัญหาเรื่องการบริหารพระสงฆ์ของพระพุทธเจ้า

            พระเจ้ามิลินท์ ทรงตั้งปัญหา มีใจความว่า พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับ พระอานนท  ว่า พระองค์ไม่มีความดำริที่จะบริหารคณะสงฆ์ หรือความดำริที่ว่า คณะสงฆ์ จะต้องเป็นของพระองค์ และต้องพึ่งพาอาศัยพระองค์ ดังนี้ แต่ในที่อีกแห่งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงพรรณนา พระคุณของพระเมตไตรยพุทธะ ที่จะมา ตรัสรู้ในอนาคต พระองค์ กลับตรัสว่า พระเมตไตรยพุทธะ ที่จะมาตรัสรู้ ในอนาคต จะได้บริหารปกครองพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนนับพัน ๆ รูป เหมือนเราตถาคต ได้บริหารภิกษุสงฆ์ เป็นจำนวนนับร้อย ๆ รูปอยู่ ในบัดนี้ ดังนี้ ข้อความทั้ง ๒ นี้ฟังดูขัดๆ กันอยู่

            พระนาคเสนได้ถวายพระพรตอบว่า ไม่ขัดกันแต่อย่างใด เพียงแต่ในกรณีแรก ที่ว่าพระองค์ ไม่ คิดจะบริหารคณะสงฆ์ และไม่คิดจะให้พระสงฆ์ พึ่งพา อาศัยพระองค์ ให้พระสงฆ์ เป็นสมบัติของพระองค์ นั้น เป็นการพูดแบบรวบยอด ส่วนในกรณีหลังเป็นการพูดเฉพาะกรณี ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธองค์มิได้ แสวงหาบริษัทเลย บริษัทต่างหากเป็นผู้ แสวงหาพระองค์ที่พระองค์ ตรัสว่า เราและของเรานั้น เป็นเพียงพูดตามสมมติบัญญัติเท่านั้น หาใช่ความจริง ชั้นปรมัตถ์ไม่พระองค์ ทรงกำจัดความยึดมั่นถือมั่นและความรักอาลัยในสิ่ง ทั้งปวงได้แล้ว พระองค์ทรงพระชมม์อยู่ เพื่อประโยชน์แก่ ผู้อื่นเท่านั้นเปรียบเหมือน แผ่นดิน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ทั้งหลายในโลก เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย แต่แผ่นดินใหญ่มิได้มีความคิดแม้แต่น้อยว่า สัตว์เหล่านั้นเป็นของเรา หรือ เปรียบเหมือนเมฆฝนอันยิ่งใหญ่หลั่งสายฝนลงมา ให้ความชื่นฉ่ำแก่หญ้าและ ต้นไม้แก่สัตว์เลี้ยงและหมู่มนุษย์ ให้ พืชและสัตว์เหล่านั้นดำรงเผ่าพันธุ์ ของตนไว้ได้แต่ มหาเมฆนั้น หาได้มีความนึกคิดไม่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา พระตถาคต เจ้าก็เช่นเดียวกัน แม้พระองค์จะได้ทรงสอนให้สัตว์ทั้งหลายรู้จักกุศลธรรม และให้ตั้งอยู่ ในกุศลธรรมเหล่านั้น ตามรักษาสัตว์ เหล่านั้นให้ตั้งอยู่ พระตถาคต เจ้าจึงเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งปวงแต่พระองค์ หาได้ มีความคิดแม้แต่น้อยว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นของเรา เพราะพระองค์ ทรงกำจัดความเห็นว่ามีตัวมีตนได้แล้ว

            ผลปรากฏว่า พระเจ้ามิลินท์ ทรงพอพระทัยต่อคำตอบ ชี้แจงของ พระนาคเสน

 
 

Top