ธรรมคีตาของมิลาเรปะ ผู้รู้แห่งธิเบต

รุ่งเรือง บุญโญรส แปล

      ท่านมิลาเรปะ ใช้ชีวิตอยู่ในป่าในถ้ำตามภูเขา ในเทือกเขาหิมาลัยฝ่ายธิเบต วันหนึ่งชาวบ้านหลายคนจากหมู่บ้านรัคมา ได้มาหาท่านตอนหนึ่งคนเหล่านั้นถามท่านว่า “ทำไมท่านอาจารย์จึงชอบอยู่ที่นี่มาก เพราะเหตุอันใดหนอ ท่านจึงอยู่เป็น สุข ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายอยากทราบว่าท่านอาจารย์คิดอย่างไรกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ณ ที่นี้”   ท่านมิลาเรปะ ได้ร้องตอบเป็นคำกาพย์ให้เขาฟังดังๆ ว่า

ณ แห่งนี้แล เป็นโพธิ- สถาน ทั้งสงัดและสงบ

ตั้งตระหง่านเบื้องบนสูงโน้นฤา คือหิมะสิงขร

อันเป็นวิมานของเทวะทั้งหลาย

เบื้องล่างห่างไกลออกไปโน่นมีหมู่บ้าน

ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของโยมอุปัฎฐากของข้าฯ

ห้อมล้อมหมู่บ้านก็มีแต่ภูเขา

แต่ละลูกมีหิมะขาวตก

ดูสดสวยยิ่งนัก คลุมอยู่แล

บนกิ่งไม้ มีนกป่าส่งเสียงร้องเรียกกันอย่างมีความสุข

เมื่อลดพัดมาเอื่อยๆ ต้นนุ่นซึ่งดูดั่งสะอื้นไห้

ก็ไหวเอนไปมาอย่างเฉื่อยช้า

บนยอดพฤกษามีเหล่าวานร

กระโดดโลดเต้นด้วยความร่าเริง

อีกฟากหนึ่งเป็นทุ่งหญ้าเขียว

จะเห็นฝูงแกะกระจัดกระจายกันเล็มหญ้ากินอยู่

คนเลี้ยงแกะก็มีความร่าเริง เบิกบาน

และปราศจากความกังวล

ต่างก็ร้องเพลงอย่างสำราญใจ

และเล่นอยู่ในหมู่ไม้อ้อ

เขาเป่าอ้อเล่นด้วยความสนุกสนาน

ผิดกับหมู่คนในโลก ที่มีความอยากอันร้อนรุ่ม

และความกระสับกระส่ายไขว่คว้าอันรุนแรง

ต่างก็ถูกล่อให้หลงอยู่กับกิจการต่างๆ

จนกลายเป็นทาสของแผ่นดินถิ่นโลกียวัตร

จากยอดศิลาที่ทอแสงแวววาวดังเพชรมณี

ข้าผู้เป็นโยคี เห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้

สังเกตดูมันแล้ว ข้าฯ รู้ว่ามันลอยล่องผ่านไปอย่างรวดเร็ว

และเป็นอยู่ชั่วประเดี๋ยวเท่านั้น

เพ่งพินิจสิ่งเหล่านี้อยู่ ข้าฯ รู้ชัดว่า

ความสุขสบายกายและความสำราญทั้งหลาย

เป็นเพียงพยับแดด และเงาในน้ำ

ข้าฯ เห็นชีวิตนี้ เหมือนกับการเล่นกล และความฝัน

เหตุฉะนั้น ความกรุณาปรานีอย่างท่วมท้น

จึงบังเกิดขึ้นในหทัยของข้า

เพื่อยังประโยชน์แก่คนไม่รู้ถึงความจริงเหล่านี้

อาหารที่ข้ากินอยู่ คือ ความว่างโปร่ง

การล่วงพ้นแล้วซึ่งความวอกแวก หวั่นไหว

นั่นแหละคือฌานของข้า

ภาพเป็นหมื่นๆ และความหลายหลากทั้งหมด

ประจักษ์อยู่เบื้องหน้าข้า

เออ, แปลกจริงๆ ปรากฏการณ์ในสังสารวัฎฎ์นี้

อัศจรรย์จริงแท้ คือ ธรรมะในโลกทั้งสาม

โอ, ช่างอัศจรรย์จริงเทียว ช่างประหลาดเหลือ!

ว่าง เป็นธรรมชาติของมัน

แม้กระนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็ปรากฏให้เห็นได้ทั่วไป

 

คุกของชีวิต

        คำกาพย์บทนี้ ท่านมิลาเรปะ ร้องตอบแก่หญิงสาวที่แต่งตัวดีคนหนึ่ง หลังจากที่เธอได้ถามท่านเกี่ยวกับบิดามารดา พี่ชายน้องชาย และพี่สาวน้องสาวของท่าน และ ได้ถามว่า “ ท่านมีสหายร่วมในวัฏฏสงสาร บุตรและทรัพย์สิ่งของด้วยหรือ”

 

        เรื่องนำที่เล่าโดยสรุปนี้ และในตอนต่อ ๆ ไป ท่านขันติปาโล เป็นผู้เล่าสรุป ท่านมิลาเรปะ ตอบว่า

 

ในตอนแรกๆ ชีวิตของข้าในวัฏฏสงสาร

ดูเหมือนสดชื่นที่สุด และน่ายินดีน่าปลื้มเป็นที่สุด

แต่ในกาลต่อมา ข้าได้เข้าใจบทเรียนของชีวิตมากหลาย

ในตอนท้าย ข้าจึงพบว่ามันเป็นเรือนจำของมาร

เหล่านี้แหละ คือความคิดนึกและความรู้สึกของข้า

ที่มีต่อวัฏฏสงสาร

ดังนั้น ข้าจึงได้ตัดสินใจสละมันเสีย

ในตอนแรกๆ มิตรในเรือนตน

เป็นเหมือนดังเทพธิดาที่ยิ้มแย้มด้วยความปรานี

มาในตอนหลัง เธอกลับกลายเป็นหญิงสาวที่โมโหร้าย

และในตอนท้าย เธอเป็นปีศาจ

เหล่านี้แหละ คือความนึกคิดและความรู้สึกของข้า

ที่มีต่อสหายในสังสารวัฏฏ

ดังนั้น ข้าจึงตัดสินใจสละมิตร ไม่ประสงค์จะเกี่ยวข้องด้วย

ในตอนแรกๆ เด็กชายที่น่ารักเอ็นดู

ก็ยิ้มให้ระรื่นชื่นใจ ดั่งทารกจากสวรรค์

มาในตอนหลัง เขาสร้างความเดือดร้อน

ให้แก่เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง

ในตอนท้าย เขากลายเป็นเจ้าหนี้ และศัตรู

เหล่านี้แหละ คือความนึกคิด

และความรู้สึกของข้าเกี่ยวกับเด็กๆ

ดังนั้น ข้าจึงสละทั้งลูกและหลาน

ในตอนแรกๆ เงินทองเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก

มาในตอนหลัง ใครๆ ก็ไม่สามารถละทิ้งมันได้

ต้องห่วงหามันอยู่ไม่หยุด

ในตอนท้าย ก็รู้สึกว่าตนเป็นคนยากจนที่ไร้ทรัพย์

แม้แต่สตางค์เดียวก็ไม่มี

เหล่านี้แหละ คือความนึกคิด

และความรู้สึกของข้าเกี่ยวกับเงินทอง

ดังนั้น ข้าจึงสละทั้งทรัพย์สมบัติ

และสิ่งที่ดีมีค่าเป็นสินค้าทั้งหลาย

เมื่อข้าคิดถึงเหตุการณ์ชีวิตต่างๆ ที่ผ่านมานั้น

ข้าอดไม่ได้ จึงต้องปฏิบัติธรรม

เมื่อข้าคิดถึง ธรรมะ

ข้าอดไม่ได้ ทำอย่างอื่นก็ไม่ได้

นอกจากเผยแผ่ต่อไปยังคนอื่นๆ ด้วย

เมื่อความตายใกล้มาถึง ข้าจะไม่ต้องเสียใจ

 

สิ่งเตือนสติ ๘ ประการ

        ครั้งหนึ่ง ท่านมิลาเรปะ เดินทางไปศรี ริ เพื่อบำเพ็ญภาวนา ระหว่างทางได้พักอยู่ ณ บ้านพักแรมแห่งหนึ่งและได้พบกับวานิชนายหนึ่งชื่อ ธวะนรพู ( จันทร์เพชร) ซึ่งค้างแรมที่นั่นพร้อมกับบริวารมากหลายท่านมิลาเรปะได้บิณฑบาตจากเขาวานิชกล่าวขึ้นว่า ท่านมิลาเรปะควรจะทำงานเลี้ยงตัวเองไม่ควรขอผู้อื่นกินท่านมิลาเรปะ ได้ถือโอกาสสอนเขา โดยชี้ให้เขาเห็นว่า การสนุกอยู่กับความสำราญทั้งหลาย ณ บัดนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ลำบากอันใหญ่หลวงในอนาคตและพูดกับวานิชนั้นว่า         ณ บัดนี้ จงฟังธรรมคีตาจากข้า

ปราสาทแลนครที่มีคนอยู่หนาแน่นแออัด

อันเป็นแหล่งที่ท่านรักและพอใจพักอยู่ ณ บัดนี้

ท่านพึงจำไว้เถิดว่า สิ่งเหล่านี้จะปรักหักพัง

เหลือเป็นกองอิฐกองปูน

หลังจากที่ท่านได้ลาจากโลกนี้ไป

ความหยิ่งผยองตน และเกียรติศักดิ์

ซึ่งที่แท้แล้วก็ไร้ประโยชน์

มันเป็นเพียงเหยื่อล่อ

ซึ่งท่านก็พอใจคบหาและติดตามอยู่ ณ บัดนี้

แต่พึงจำไว้ว่า เมื่อท่านจวนจะตาย

มันจะไม่เป็นที่พึ่งพิงหรือที่หลบลี้แก่ท่านได้เลย

ณ บัดนี้ ท่านรักที่จะอยู่รวมกับพี่น้องวงศ์วานเครือเดียวกัน

แต่พึงจำไว้ว่า ท่านจะต้องทิ้งเขาเหล่านั้นไว้เบื้องหลัง

ในคราวที่ท่านละจากโลกนี้ไป

คนรับใช้ ทรัพย์สินและเด็กๆ

เป็นสิ่งที่ท่านรักที่จะยึดครองไว้

แต่พึงจำไว้ว่า ณ กาลแห่งมรณะของท่าน

มืออันว่างเปล่าของท่าน

ไม่สามารถเอาสิ่งใดไปกับท่านได้เลย

กำลังวังชาและสุขภาพเป็นสิ่งที่รักยิ่งแก่ท่าน

ณ กาลบัดนี้ แต่พึงจำไว้ว่า

ณ ชั่วขณะแห่งมรณะของท่าน

ร่างอันหมดลมหายใจของท่านจะถูกมัดและแบกไปทิ้ง

ณ บัดนี้ อวัยวะต่างๆ ของท่านยังแจ่มใสดี

เนื้อหนังและโลหิตแข็งแรงแข็งขัน

แต่พึงจำไว้ว่า ณ ชั่วขณะแห่งมรณะของท่าน

มันจะไม่อยู่รับใช้ท่านอีกต่อไป

อาหารอร่อย หอมหวาน

เป็นสิ่งที่ท่านรักปรารถนาจะกิน ณ บัดนี้

แต่พึงจำไว้ว่า ณ ชั่วขณะแห่งมรณะของท่าน

ปากของท่านจะปล่อยให้น้ำลายไหลออกมาให้น่าเกลียด

เมื่อคิดถึงสิ่งทั้งหมดนี้

ข้าไม่มีทางอื่น

นอกจากแสวงหาพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความบันเทิงและความสำราญทั้งปวงของโลกนี้

หมดอำนาจดึงดูดข้าเสียแล้ว

ข้า ผู้ ชื่อมิลาเรปะ นี้

ได้เปล่งวาจากล่าวถึงสิ่งเตือนใจ ๘ ประการ

ณ บ้านรับรองอาคันตุกะ ในกะระขะเจ แห่งซาง

ด้วยถ้อยคำอันดังชัดเจนนี้

ข้า ให้คำเตือนใจที่เป็นประโยชน์

ขอท่านศึกษาพิจารณาและปฏิบัติตามเถิด