ธรรมะในมิลินทปัญหา

หมวดทุติยวรรค ว่าด้วยเมณฑกปัญหา ( ปัญหามืด ๒ ด้าน)

โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณแสง จันทร์งาม

ปัญหาที่ ๓ ว่าด้วยพระอรหันต์ยังกลัวความตายหรือไม่

        พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามพระนาคเสนมีใจความว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัวต่อโทษอาญาทั้งหลายทั้งปวงและต่างหวาดกลัวต่อความตาย แต่ต่อมากลับตรัสว่า พระอรหันต์ทั้งหลายแม้มีภัยอันตรายมาถึงตัวก็หาได้สะดุ้งหวาดกลัวไม่ รู้สึกว่า พระพุทธดำรัสทั้ง ๒ ตอนนี้ขัดแย้งกันอยู่ในตัว

        พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่าเมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่าสัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัวต่ออาญาและความตายนั้น พระองค์มิได้รวมเอาพระอรหันต์เข้าไว้ด้วยพระองค์ หมายถึง สัตว์ทั้งปวงที่ยังมีกิเลสเท่านั้นส่วนพระอรหันต์เป็นผู้หมดสิ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้วเป็นผู้บริสุทธิ์จากอวิชชาตัณหาอุปาทานและกรรมทั้งที่เป็นกุศล และอกุศล ดับขันธ์แล้วจะ ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิใดๆหมดความปลิโพธิ์กังวลแล้วในสิ่งทั้งปวงรวมทั้งชีวิตของตนเองด้วยเพราะฉะนั้นท่านจึงไม่หวาดกลัวต่อ ภัยอันตราย ใดๆ รวมทั้ง ความตาย

        พระนาคเสนได้ยกอุปมาเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เปรียบเหมือนอำมาตย์ ๔ คน ผู้เป็นที่โปรดปรานของพระราชาธิบดี ได้รับแต่งตั้งให้อยู่ในจตุสดมภ์ทั้ง ๔ (เวียง วัง คลัง นา) ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดและทรัพย์สินทั้งปวง เมื่อถึงกาลสมัย พระราชาธิบดีรับสั่งให้อำมาตย์ทั้ง๔ออกเก็บส่วยสาอากรจากราษฎรทั้งปวง

        พระเจ้ามิลินท์ทรงไล่เลียงต่อไป คราวนี้ทรงใช้ตรรกวิทยามาสนับสนุนข้อสงสัยของพระองค์ด้วยพระองค์ตรัสว่า คำว่า “ทั้งปวง” ( สัพเพ) ในพระพุทธดำรัสที่ว่า “สัตว์ทั้งปวง” นั้น เป็นคำมีขอบเขตครอบจักรวาล หมายถึงสัตว์ทุกชีวิต ไม่มีข้อยกเว้นแก่ผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้นมิใช่หรือ? โปรดชี้แจงเพิ่มเติมด้วย

        ข้อโต้แย้งของพระยามิลินท์นี้ นับว่าหนักแน่นมั่นคงมาก เพราะยึดเอากระบวนการคิดแบบนิรนัย (deductive reasoning) ของตรรกวิทยาเป็นหลัก ถ้าจะจัดพระพุทธ พจน์ที่ว่าสัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย เข้าเป็นช่วงความคิด (syllogism) แบบนิรนัยของตรรกวิทยา จะได้ดังนี้

ความจริงหลัก
:
สัตว์ทั้งปวง ย่อมกลัวต่อความตาย
ความจริงย่อย
:
พระอรหันต์ เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง
บทสรุป
:
เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ย่อมกลัวต่อความตาย

***ขอให้เราดูต่อไปว่า พระนาคเสนแก้ปัญหานี้อย่างไร

        พระนาคเสนถวายพระพรชี้แจงโดยยกอุปมาเปรียบเทียบว่า เหมือนนายบ้านคนหนึ่งเรียกลูกน้องผู้แจ้งข่าวสารมาแล้วสั่งว่า เจ้าจงไปประกาศให้ชาวบ้านทั้งปวง มา ประชุมที่บ้านเราโดยด่วน ลูกน้องรับคำสั่งแล้ว รีบไปยืนท่ามกลางหมู่บ้านแล้วประกาศด้วยเสียงอันดังว่า ขอให้ชาวบ้านทั้งปวงไปประชุมที่บ้านผู้ใหญ่บ้านโดยด่วน ฝ่ายลูก บ้านต่างก็รีบเร่งไปประชุมที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ลูกน้องผู้แจ้งข่าวสารได้แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบว่า ชาวบ้านมาพร้อมแล้ว นายบ้านจึงออกคำสั่งแก่ชาวบ้านตาม ความมุ่งหมาย แต่คนที่มาประชุมกันนั้นหาใช่ชาวบ้านทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ ตามคำสั่งของผู้ใหญ่บ้าน ผู้มาประชุมกันนั้นเป็นแต่เพียงหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่บ้านก็พอใจทั้ง ๆ ที่มีคนอื่นอีกมากที่มิได้มาประชุมเช่น แม่บ้าน คนงาน ทาสชาย ทาสหญิง คนป่วย รวมทั้ง วัว ควาย แพะ แกะ และสุนัขด้วยแต่คนและสัตว์เหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมา ประชุม มีหัวหน้าครอบครัวมาประชุมก็พอแล้ว และผู้ใหญ่บ้านหมายเอาหัวหน้าครอบครัวนี้เอง เมื่อเขาพูดว่า ขอให้ชาวบ้านทั้งปวง มาประชุมกัน

        เช่นเดียวกันนั้นและเมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่าสัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตายพระองค์มิได้รวมเอาพระอรหันต์ เข้าไว้ด้วย เพราะพระอรหันต์เป็นผู้พ้นแล้วพอแล้ว และผู้ใหญ่บ้านหมายเอาหัวหน้าครอบครัวนี้เอง เมื่อเขาพูดว่า ขอให้ชาวบ้านทั้งปวงมาประชุมกัน

 

คำศัพท์ ๔ ประเภท พร้อมทั้งขอบเขตความหมาย

        ต่อจากนั้น พระนาคเสน ได้แสดงความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ โดยการจำแนกคำศัพท์ออกเป็น ๔ ประเภทพร้อมทั้งขอบเขตความหมายของแต่ละประเภท ไว้ ดังนี้

๑ . คำบางคำมีลักษณะไม่ครอบคลุม และมีขอบเขตความหมายไม่ครอบคลุมด้วย ( เช่น พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา)

๒ . คำบางคำมีลักษณะไม่ครอบคลุม แต่มีขอบเขตความหมายครอบคลุม ( คงเป็นคำประเภทสมุหนามหรือ Collective noun)

๓ . คำบางคำมีลักษณะครอบคลุม แต่มีขอบเขตความหมายไม่ครอบคลุม ( เช่น ในกรณีสัตว์ทั้งปวงกับพระอรหันต์ในเรื่องนี้)

๔ . คำบางคำมีลักษณะครอบคลุม และมีขอบเขตความหมายครอบคลุม ( เช่น สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้ต้องตาย)

        ดังนั้น เมื่อพบกับคำศัพท์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธพจน์หรือคำพูดของใคร จะต้องพิจารณาให้ดีว่าเป็นศัพท์ประเภทไหนและมีขอบเขตความหมายกว้างแคเพียงใด ก่อนจะตัดสินใจถือเอาความหมาย

 

วิธีถือเอาความหมาย ( วิธีตีความ) ๕ วิธี

        นอกจากนี้ พระนาคเสนยังเสนอแนะวิธีการตีความหมายของศัพท์ไว้ ๕ วิธี ที่น่าสนใจยิ่ง แม้จะยากต่อการเข้าใจก็ตาม คือ

        ๑ . อาหัจจปาเทน ศัพท์นี้ มิลินทปัญหาฉบับกรมศิลปากร ( พิมพ์ครั้งแรก พ. ศ. ๒๔๖๑) แปลว่า คือบทแห่งบาลี มีอรรถจดต้องตามกันนั้นประการหนึ่ง ฉบับ สมาคมบาลีปกรณ์แห่งลอนดอน โดย ศ. ริส เดวิดส์ แปลว่า การต่อเชื่อม (connection) เฉยๆ ถ้าถือเอาความแล้ว น่าจะหมายถึงการถือเอาความของศัพท์ใดศัพท์หนึ่งโดย พิจารณาเทียบเคียงศัพท์อื่นๆ ในประโยคเดียวกัน ในปัจจุบันนี้ เขาเรียกว่าให้ดูบริบท หรือ context เช่นคำว่า นาค จะมีความหมายต่างกันในประโยคว่าจะไปงานบวช นาค กับปีนี้นาคให้น้ำ ๒ ตัว

        ๒ . รเสน ฉบับกรมศิลปากร แปลว่า คืออรรถรสอนุโลมตามบทแห่งบาลีนั้นประการหนึ่ง ฉบับของสมาคมบาลีปกรณ์แปลว่าความหมายที่ลงรอยหรือเข้ากันได กับพระสูตรอื่นๆ หมายความว่าคำศัพท์ในพระสูตรนี้ เราจะรู้ได้แน่นอนก็ต้องเทียบกับศัพท์เดียวกันที่ใช้ในพระสูตรอื่นๆ เสียก่อน

        ๓ . การณุตตริตายะ ฉบับกรมศิลปากรแปลว่า มีอรรถอันจะจัดออกให้ยิ่งกว่าเหตุนั้นประการหนึ่ง เป็นการแปลตามศัพท์โดยตรงยากที่จะเข้าใจความหมายได้ ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์ก็ยอมรับว่าศัพท์นี้ยังคลุมเครืออยู่มาก

        ๔ . อาจริยเสวเนนะ ฉบับกรมศิลปากรแปลว่า มีอรรถจะให้ส้องเสพอาจารย์ ถามอาจารย์นั้นประการหนึ่งฉบับสมาคมบาลีปกรณ์บอกว่า ตามที่ครูอาจารย์สอน ต่อ ๆ กันมา

        ๕ . อธิปปาเยน ฉบับกรมศิลปากรว่า มีอรรถไว้อธิบายจะให้ความกระจายออกนั้นประการหนึ่ง ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์บอกแต่เพียงว่าเป็นตามความหมายทีEี่คนเข้าใจกันอยู่

        สรุปแล้ว วิธีการตีความหลายข้อ ยังไม่กระจ่างพอ แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ขอเก็บไว้เพื่อศึกษาค้นคว้าต่อไปก็แล้วกัน เมื่อได้คำตอบที่สมบูรณ์แล้วจะนำมาเขียนเผย แพร่ต่อไป

 

สัตว์นรกกลัวตายหรือไม่

        ในปัญหาเดียวกันนี้เอง มี ๒ ประเด็น ประเด็นแรกว่าด้วยพระอรหันต์ไม่กลัวความตายดังที่กล่าวไปแล้ว ประเด็นที่ ๒ ว่าด้วยสัตว์นรกกลัวความตายหรือไม่

        พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามมีใจความว่า ธรรมดาสัตว์นรกนั้นย่อมได้เสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสทั้งทาง กายทั้งทางใจตลอดเวลา ธรรมดาสัตว์ผู้มีความทุกข์นั้นย่อมมี ความปรารถนาอันสูงสุด คือ การไปเสียให้พ้นจากความทุกข์ทรมานนั้น แม้แต่ความตายก็ไม่น่าจะกลัวเพราะความตายทำให้พ้นไปเสียจากมหันตทุกข์ดังนั้นเมื่อสัตว์นรก จะตายจากนรกนั้น เขายังมีความกลัวตายอยู่หรือไม่

        พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า แม้แต่สัตว์นรกก็ยังกลัวความตายเพราะว่าความตายนั้นเป็นสิ่งน่าสะพึงกลัวยิ่งกว่าสิ่งใดๆท่านได้ให้อุปมาไว้อย่างน่าฟังดัง ต่อไปนี้

        บุรุษคนหนึ่งป่วยเป็นโรคฝีก้อนใหญ่ที่ใดที่หนึ่ง ได้รับความปวดร้าวแทบทนไม่ไหว เขาอยากจะพ้นจาก ความทุกข์ทรมานนั้นจึงเรียกหมอมารักษาหมอตรวจดูแล้ว บอก ว่าจะต้องผ่าเอาหัวฝีออก เขาได้นำเอาเครื่องมือผ่าตัดออกมาเอามีดผ่าตัดออกมาลับจนคมกริบ เอาแผ่นเหล็กสำหรับนาบฝีเผาไฟให้ร้อนบดยาด้วยหินบดเป็นต้น บุรุษ ผู้เป็นฝีเห็นเครื่องมือผ่าตัดเหล่านั้นแล้ว ย่อมเกิดความหวาดกลัว ทั้งๆ ที่อยากพ้นจากความทุกข์ฉันนั้น

        อีกประการหนึ่ง เปรียบเสมือนชายคนหนึ่งกระทำความผิดร้ายแรง จึงถูกเจ้านายผู้มีอำนาจจับขังไว้ในเรือนจำได้รับความทุกข์ทรมานยิ่งนักมีความปรารถนาอย่าง แรง กล้าที่จะหลุดพ้นจากโทษทัณฑ์นั้น ต่อมาเจ้านายเกิดความสงสารเห็นใจ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่นำตัวนักโทษคนนั้นไปพบ เพื่อจะได้ปลดปล่อยให้เป็นอิสระขณะเดินทาง ไป พบเจ้านาย นักโทษคนนั้นย่อมเกิดความหวาดหวั่นเกรงกลัวไปต่างๆ นานา เช่นเกรงว่าจะถูกนายนำไปโบยตีเป็นต้นฉันใด สัตว์นรกก็หวาดกลัวต่อความตายฉันนั้น

        อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งถูกงูพิษกัดนอนเจ็บอยู่ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันการอาจจะถึงตายในไม่ช้า หมองูคนหนึ่งมาพบเข้าปรารถนาจะช่วยเขา ให้รอดชีวิต จึงร่ายมนต์เรียกเอางูพิษร้ายตัวนั้นกลับมาหาคนป่วยเพื่อให้มันดูดเอาพิษร้ายออกมาจากตัวคนป่วยฝ่ายชายผู้เคราะห์ร้ายนั้นเมื่อเห็นงูพิษย่อมจะตกใจกลัว จนตัวสั่นฉันใด สัตว์นรกก็กลัวต่อความตายฉันนั้น

        สุดท้ายพระเจ้ามิลินท์ก็พอพระทัยต่อคำชี้แจงพร้อมด้วยอุปมาอุปไมยของพระนาคเสน

 

ปัญหาที่ ๔ ว่าด้วยอำนาจการสวดพระปริตร

        พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามมีใจความว่า ในที่แห่งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ไม่มีจุดใดเลย ไม่ว่าในท้องฟ้าในกลางมหาสมุทรในซอกหลืบแห่งขุนเขาอันลี้ลับหรือในสกล โลกอันไพศาล ที่บุคคลเข้าไปซ่อนตัวอยู่แล้วจะรอดพ้นไปจากบ่วงแห่งมัจจุราช ดังนี้ แต่ในที่บางแห่ง พระพุทธองค์กลับตรัสยืนยันว่า ถ้ามีพิธีสวดพระปริตรบางอย่าง เช่น รตนสูตร ขันธปริตร โมรปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร และอังคุลิมาลปริตร จะทำให้รอดพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุราช ได้ดังนี้พระพุทธดำรัสทั้ง ๒ตอนนี้ขัดแย้งกันอย่าง ชัดเจน

        พระนาคเสนถวายพระพรตอบมีใจความว่า พระพุทธพจน์ทั้ง ๒ ตอนไม่ขัดกันแต่ประการใด ที่ตรัสว่า พระปริตรจะป้องกันมัจจุราชได้ ทรงมุ่งหมายสำหรับบุคคลที่ยัง ไม่สิ้นอายุ มีวัยพอที่จะมีชีวิตต่อไปได้อีก ยังมีกรรมหล่อเลี้ยงอายุเหลืออยู่บ้าง ถ้าถึงคราวสิ้นอายุ ผ่านวัย หมดกรรมแล้ว แม้พิธีสวดพระปริตรก็ช่วยไม่ได้ เปรียบต้นไม ้ ้ตายแล้ว แห้งแล้ว ผุแล้ว ปราศจากยางเหนียวแล้ว แม้จะนำเอาน้ำสัก ๑๐๐๐ หม้อมารดก็ไม่มีทางจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ อนึ่ง เปรียบเหมือนต้นข้าวในนาที่เขาเก็บเกี่ยว แล้วระบายน้ำออกหมดแล้ว แห้งสนิทแล้ว แต่ที่โคนของกอข้าว ยังมีหน่อข้าวเล็กๆ ที่ยังไม่ตายเหลืออยู่ ถ้ามีฝนตกลงมา หน่อข้าวนั้น ก็ยังมีโอกาสที่จะงอกงามขึ้นมาเป็น ต้นข้าวได้ แต่ถ้าไม่มีฝนตกลงมา หน่อข้าวเหล่านั้นก็จะเหี่ยวแห้งตายไปในไม่ช้า

        นอกจากนี้ พระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนยังได้สนทนาโต้ตอบกันในประเด็นนี้อีกมาก แต่เมื่อพิจารณาแล้วส่วนใหญ่เป็นเรื่องนิยายหรือนิทานที่คนรู้จักกันแพร่ หลาย ในสมัยนั้น เช่น เรื่องเกี่ยวกับบุตรอสูร พระยานกยูง วิทยาธ เป็นต้น ซึ่งไม่ค่อยมีสาระสำคัญอะไรนักแต่เมื่อสรุปใจความแล้ว ก็เพื่อยืนยันว่าการสวดพระปริตร มีผลจริงในบางกรณี แต่ในกรณีที่ไม่มีผลนั้นเพราะเหตุ ๓ ประการคือ เพราะกรรมบางอย่างขัดขวางไว้ เพราะมีกิเลสบางอย่างขัดขวางไว้ และ เพราะผู้สวดไม่มีความเชื่อ ในอำนาจของพระปริตร สักแต่ว่าสวดแต่ปาก