| home | พุดตานกถา | แก้ปัญหาได้ก็หายเครียด | แบบประเมินความเครียด | ปรากฎการณ์มหัศจรรย ์| ผู้รู้แห่งธิเบต |
| พระพุทธศาสนา (ตอนที่๒๑) | สมาธิเพื่อสุขภาพ | แนวทางเจริญวิปัสสนา | ธรรมะในมิลินทปัญหา | รายนามผู้บริจาค |

 

ปรากฏการณ์มหัศจรรย์เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนา
 
 

โดย …. พรพรรณ สุจริตวณิช

 
 

ทัวร์บุญที่อีสาน

            ข้าพเจ้าและคณะเพื่อนๆ ได้ไปเที่ยวและทำบุญที่อีสาน ช่วงระหว่างวันที่ ๑๕ - ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ ออกเดินทางจากเชียงใหม่ โดยรถกระบะ โตโยต้า ๔ ประตู มีผู้โดยสาร ๕ คน เมื่อเวลาราวตี ๕ ของเช้าวันที่ ๑๕ ตุลาคม จุดหมาย คือโคราชที่ต้องไปโคราชก่อนเพราะน้องเซี๋ยมซึ่งเดินทาง มาจากอเมริกา มีความศรัทธาหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธมาก อยากจะไปกราบหลวงพ่อคูณ เลยต้อง แวะโคราชก่อน ทั้งๆ ที่ตอนแรกคิดจะไปที่หนองบัวลำภูก่อนก็ตาม

            คณะเราไปถึงโคราชประมาณ ๔ โมงเย็น ได้ญาติธรรมสมาชิกหนังสือ “ อริยธรรม ” อาจารย์ชนะ แป้นขำ อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ราชภัฏนครราชสีมา เป็นไกด์นำคณะจากเชียงใหม่ไปทำบุญ ก็ขอขอบพระคุณในน้ำใจ และไมตรีของอาจารย์มา ณ ที่นี้อีกครั้ง

            พวกเราได้ไปกราบหลวงพ่อคูณเป็นท่านแรก ข้าพเจ้าและคณะต่างประทับใจในความเมตตาของหลวงพ่อเป็นอย่างมาก ี่แม้สุขภาพไม่ค่อยดีนัก แต่ท่านก็ยังมี เมตตาออกมาให้ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาได้กราบไหว้ทำบุญและให้ศีลให้พรแก่ผู้ศรัทธา

            หลังจากนั้นพวกเราได้เดินทางไปสนทนาธรรมกับ อาจารย์พิศ เงาเกาะ อยู่พักใหญ่ อาจารย์พิศ เป็นฆราวาสนักปฏิบัติธรรม ซึ่งในอดีต ประมาณ พ . ศ . ๒๕๓๐ ท่านเคยให้การรักษาโรคด้วยพลังจิตแก่ผู้เจ็บป่วย โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด

            ทำให้มีผู้เจ็บป่วยมาเข้ารับพลังจิตจากท่านเป็นจำนวนมาก เป็นที่โด่งดังไปทั่วประเทศ ทำให้ท่านไม่มีเวลาส่วนตัวและคนที่มาหาเป็นจำนวน มากนั้น สร้างความลำบากแก่ผู้ที่มีบ้านติดกับบ้านท่าน ทำให้เขาเข้าบ้านไม่สะดวก เพราะ สารพัดรถจากหลายจังหวัดจอดกันเต็ม ทำให้ท่าน ต้องย้าย บ้านแล้วเลิกให้การรักษาโรค ปัจจุบันท่านพำนักอยู่อย่างสงบและยังคงปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ ในบ้าน แถววัดบ้านเกาะ ในตัวเมืองโคราชนั่นเอง จากการสนทนากับอาจารย์พิศ ทำให้ ได้ข้อคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติสมาธิภาวนาว่าถ้าคน เราปลีกเวลาให้กับการปฏิบัติ สมาธิภาวนาบ้าง แม้จะเป็นเวลาไม่มากนักก็ตาม ก็จะทำให้ชีวิตมีแต่ความสงบสุข และยังทำให้มีสุขภาพแข็งแรง"เพราะจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อมีจิตใจดีสงบ ก็จะทำให้ร่างกายพลอยแข็งแรงไปด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้เรามีสติในทุกการกระทำอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้เรา ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เพราะมีสติปัญญาคอยเตือนตนนั่นเอง" ปัจจุบันแม้อาจารย์พิศจะมี

            อายุมากแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรง หน้าตาผ่องใส มีสุขภาพดีทั้งกายและจิตใจ ก่อนลากลับอาจารย์กรุณาให้ซี . ดี . และหนังสือธรรมะติดมือมาหลาย อย่าง เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อไป

            ออกจากบ้านอาจารย์มาประมาณเกือบ ๑ ทุ่ม แวะกราบอนุสาวรีย์ย่าโม แล้วแวะทานอาหารค่ำที่ร้านอาหารเยื้องอนุสาวรีย์นั้น กว่าจะทานอาหาร เสร็จเกือบ ๓ ทุ่ม ตอนแรกแพลนไว้ว่าจะไปพักที่อาศรมมาตาที่อำเภอปักธงชัย แต่คิดว่า กว่าจะไปถึงมันดึกไป เพราะระยะทางที่ห่างจากตัวเมืองถึง ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร เลยตกลงกันพักที่โรงแรมในตัวเมืองนั่นเอง

            ประมาณ ๗ โมงเช้า อาจารย์ชนะ มารับที่โรงแรมพาไปกราบหลวงพ่อดำที่วัดสุทธจินดาในตัวเมืองโคราชเพื่อกราบไหว้และทำบุญตาม คำแนะนำ ของอาจารย์พิศ หลวงพ่อดำเป็นพระพุทธรูปองค์เล็กๆ มีสีดำ จึงเรียกว่า “ หลวงพ่อดำ ” ท่านเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้คนเคารพนับถือมาก กราบไหว้ท่านแล้วนั่งสมาธิ เพื่อเป็นพุทธบูชาอยู่พักนึง รู้สึกจิตใจสงบเย็นและปลอดโปร่งอย่างประหลาด ศาลาที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำอยู่ใกล้ๆ กับศาลาหอฉัน ท่านใดที่มีโอกาสไปโคราช น่าจะหาโอกาสไปกราบและทำบุญกับท่านเพื่อความเป็นสิริมงคลค่ะ

            ออกจากวัดสุทธจินดา อาจารย์ชนะพาไปทานอาหารเช้า ข้าพเจ้าจำชื่อ ร้านอาหารไม่ได้ อยู่แถวถนนมิตรภาพ อาหารที่นี่อร่อย ดูสะอาดและราคา
ไม่แพงอีกด้วย ทานอาหารเสร็จน้องเซี๋ยม ซึ่งมีความตั้งใจจะมากราบหลวงพ่อคูณ โดยเฉพาะ เมื่อสมปรารถนาแล้วจะขอกลับเชียงใหม่ก่อน แม้พวกเรา จะช่วยกันพูดว่าไว้ วันนี้ไปทำบุญที่ปากช่องเสร็จก่อน ค่อยกลับก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจเขาได้ อาจารย์ชน จึงขับรถไปส่งเพื่อขึ้นรถทัวร์ กลับเชียงใหม่ แล้วคณะเราจึงไปเปลี่ยนรถจากรถ ของอาจารย์ชนะเป็นรถของข้าพเจ้าเพื่อจะได้เดินทางไปทำบุญต่อที่อำเภอปากช่องโดยสะดวก

            พวกเราแวะซื้อข้าวโพดต้ม น้ำข้าวโพด และผลไม้ข้างทางเพื่อนำไปถวายเป็นภัตตาหารแด่พระอาจารย์ชยสาโร อดีตประธานสงฆ์ วัดป่านานาชาติ จังหวัด อุบลราชธานี ปัจจุบันท่านพำนักปฏิบัติธรรม ณ บ้านบุญ ที่บ้านไร่ทอสี เนื่องจากคณะเราไปถึงช้า ประมาณ ๑๑ โมงแล้ว จึงไม่ได้ร่วมปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ ภาวนาและฟังธรรมเทศนาของท่านเลย ขณะไปถึงเขาเตรียมใส่บาตรกัน พวกเราก็ไป ยืนต่อแถวรอใส่บาตร พระอาจารย์ชยสาโรด้วย ปรากฏว่าพระอาจารย์ชยสาโร จำข้าพเจ้าได้ ได้ทักทายและสอบถามถึงพระอาจารย์ชาลส์ นิโรโธ ที่ปรึกษาของมูลนิธิ
กลุ่มศรัทธาธรรม ซึ่งเป็นสหธรรมิกของท่าน ปัจจุบันพระอาจารย์ชาลส์รับผิดชอบทำ เว็บไซด์ภาษาอังกฤษอยู่ทาง www.geocities.com/cmdsg.geo/index.htm. ส่วนเว็บไซด์ ภาษาไทยของมูลนิธิฯ เพิ่งจะเริ่มทำ โดยเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๙ นี้ และจะพัฒนาเว็บไซด์ไปเรื่อยๆ ทาง www.sattatam.org.

            หลังจากใส่บาตรแล้ว ทุกคนร่วมกันรับประทานอาหารเพล คณะของเราพบ กับคณะจากอาศรมมาตา โดยการนำของคุณแม่ทิพย์วรรณ ทิพยทัศน์ ซึ่งมาจาก อำเภอปักธงชัย ท่านพาญาติธรรมและลูกศิษย์มาทำบุญด้วย พูดถึงคุณแม่ทิพย์วรรณ ท่านเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่แกร่งกล้า สามารถเป็นสตรีเหล็กท่านหนึ่งในทัศนะ ของข้าพเจ้า ท่านสร้างศาสนสถานคือ “ อาศรมมาตา ” ที่มีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โต สงบสัปปายะ และสวยงามเหมือนรีสอร์ททางธรรมเลยค่ะ สถานที่แห่งนี้เป็นสถาน ปฏิบัติธรรมสำหรับสตรีที่มีความเพียบพร้อม และสะดวกสบายทุกอย่าง ท่านใดสนใจ อยากไปปฏิบัติ โปรดติดต่อคุณแม่ทิพย์วรรณ ทิพยทัศน์ อาศรมมาตา ๖๗ ม . ๗ ต . ภูหลวง อ . ปักธงชัย จ . นครราชสีมา ๓๐๑๕๐ โทรศัพท์ ๐๑ - ๙๑๓๕๐๓๑

            เวลาประมาณบ่ายโมงพระอาจารย์ชยสาโร เปิดโอกาสให้ญาติโยม เข้าพบสนทนาธรรมได้อีกวาระหนึ่ง คณะเราเลยเข้าไป กราบสนทนา และถวายของกับท่าน เสร็จแล้วจึงกราบลาท่าน เพื่อเดินทางต่อไปกราบคารวะและสนทนาธรรมกับ หลวงปู่ทา จารุธัมโม พระสุปฏิปันโนรูปหนึ่ง ตามคำแนะนำของพระอาจารย์ชยสาโร

             หลวงปู่ทาเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพทางธรรมแห่งอีสาน ปัจจุบันหลวงปู่ทา พำนัก ณ วัดถ้ำซับมืด อำเภอปากช่องนั่นเอง

            วัดถ้ำซับมืดนับว่าอยู่ห่างไกลพอสมควร ถนนหนทางก็ไม่ค่อยดีนัก บางช่วงถนนแคบ และเป็นลูกรัง มีขี้ฝุ่นมาก ถ้านั่งกระบะด้านหลัง คงหัวแดงเป็นแน่ แต่กระนั้นด้วยความศรัทธา พวกเราก็ไม่ย่อท้อทำให้ข้าพเจ้านึกถึงสุภาษิตไทย บทหนึ่งที่กล่าวว่า “ ช้างเผือก อยู่ในป่า ” คงเหมือนพระดีๆ ที่มักจะอยู่ห่างไกลเช่นนี้แล

            เมื่อไปถึงวัดถ้ำซับมืดก็แทบหายเหนื่อย รู้สึกว่าคุ้มค่ากับการมา เพราะ เป็นวัดที่สงบ ร่มเย็นมาก เป็นวัดป่าแท้ๆ มีต้นไม้มากมาย มีธารน้ำ ไหลผ่าน เสียงน้ำไหล ลมพัด และเสียงนกร้อง ให้ความรู้สึกสงบร่มเย็นยิ่ง นอกจากนี้ ยังมีความสมถะ เรียบง่ายสมกับเป็นวัดป่า

            กุฏิของหลวงปู่ก็สร้างแบบสมถะอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ขณะข้าพเจ้าและคณะไป ถึงหลวงปู่กำลังสนทนาธรรม และตอบปัญหาธรรมะที่ญาติโยม บางท่านสอบถาม ท่านอยู่ หลวงปู่ดูยังแข็งแรง หน้าท่านผ่องใสมาก ( เหมือนพระปฏิบัติทั้งหลาย ) เห็นหน้าท่านแล้วแทบไม่อยากเชื่อเลยว่า หลวงปู่อายุตั้ง ๙๐ กว่าปีแล้ว

            พวกเราสนทนาธรรมและถวายของเป็นสังฆทานเสร็จก็กราบลาท่านเพื่อเดินทาง ต่อไปยังวัดเขาวันชัย ( สาขาวัดหนองป่าพง ) ซึ่งอยู่ที่อำเภอ ปากช่องเช่นกัน

            วัดเขาวันชัย ชื่อก็บอกแล้วว่าอยู่บนเขา แต่ไม่ใช่เขาสูงมากนัก มีถนนอย่างดีขึ้นไปจนถึงวัด เมื่อไปถึงเดินไปหาพระ เรียนท่านว่าจะขอถวาย สังฆทาน ท่านบอกให้ขึ้นไปบนศาลาที่เพิ่งจะสร้างเสร็จใหม่ กว้างขวาง ใหญ่โต มีชั้นใต้ดินด้วย แต่ละชั้นมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่สวยงามมาก ทุกองค์ และมีสภาพปลอดโปร่ง โล่งสบายและสะอาดเรียบร้อยมากทุกชั้น

            เมื่อขึ้นไปบนศาลา เห็นพระท่านกำลังช่วยกันทำงานติดป้ายสุภาษิตบนผนังศาลาอยู่ บนศาลานี้มีลมพัดเย็นสบาย ให้ความรู้สึกสดชื่น แล้วยังมองเห็นวิว ทิวทัศน์ที่สวยงามของอำเภอปากช่องอีกด้วย รอบศาลามีทางเดินกว้างขวาง พวกเราพูดเหมือนกันว่า ถ้ามีโอกาสอยู่ปฏิบัติ บนศาลาหลังนี้ มาเดินจงกรม นั่งสมาธิ คงสงบสุขและเย็นกาย เย็นใจมากเลย

            ข้าพเจ้าจึงอยากขอเชิญชวนทุกท่านที่มีโอกาสไปปากช่อง น่าจะไปปฏิบัติธรรมบนศาลาวัดเขาวันชัยดูบ้างบรรยากาศดีเหมาะแก่การปฏิบัติ ิธรรม จริงๆ ค่ะ พระเณรก็ดูมีจริยาวัตรงดงาม น่าเคารพสมกับเป็นศิษย์สายหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่วัดนี้คณะเราโดยเฉพาะข้าพเจ้าได้คุยกับท่าน เจ้าอาวาส นานหน่อย ทำให้ ทราบว่าท่านเป็นพระนักพัฒนาที่สนับสนุนให้พระเณรศึกษาทั้งปริยัติธรรม คือนักธรรม และภาษาบาลีรวมทั้งเน้นด้านการ ปฏิบัติธรรมด้วย หลังจากสนทนากับท่าน พอสมควรแก่เวลา พวกเราได้รวมกันถวายสังฆทานและถวายปัจจัยร่วมทอดกฐิน กับทางวัดด้วย ข้าพเจ้า คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เรามาทำบุญที่อีสานในช่วงเทศกาล ทอดกฐินเพราะได้ร่วมทอดกฐินกับทางวัดหลายๆ วัดไปด้วย ถือได้ว่าเป็นการช่วยจรรโลง พระศาสนาอีกทางหนึ่ง ให้ทางวัดมีปัจจัยไปทำนุบำรุงกิจการของวัด หรือบูรณะซ่อมแซมศาสนวัตถุต่างๆ เพื่อให้เป็นศาสนสมบัติต่อไป

            มาอีสาน ๒ วัน ข้าพเจ้าและคณะก็รู้สึกอิ่มอก อิ่มใจ อิ่มบุญ รู้สึกภาคภูมิใจในพระพุทธศาสนาของเรา ใครที่พูดว่าศาสนาพุทธเสื่อมหรือว่าขอ เคารพแต่พระพุทธ กับพระธรรม ส่วนพระสงฆ์ไม่เคารพ หรือคิดว่าพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีๆ ไม่มีแล้วนั้น ท่านโปรดรับรู้ไว้เถอะว่า ท่านคิดผิดแล้ว เพราะ พระสงฆ์ที่ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญของโลกนั้น มีอยู่อีกมากตามที่ต่างๆ ไม่เฉพาะที่อีสานเท่านั้น เพียงแต่พระสงฆ์ที่ดี มักจะไม่เป็นข่าว ที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์นั้น มีแต่สมมติสงฆ์ที่มาอาศัยพระศาสนาเป็นที่พึ่งพิงเท่านั้น แล้วยังทำเหมือนสุภาษิตที่ว่า “ กินบนเรือน แล้วถ่าย บนหลังคา ” อีก คือทำเรื่องเสื่อมเสียให้แก่พระศาสนา แต่นั่นชาวพุทธต้องมีวิจารณญาณ และรู้จักแยกแยะว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคลเท่านั้น ที่แพ้กิเลส จึงเสื่อมจากธรรมแท้ ( ชาวพุทธที่ดีต้องช่วยกันเอาใจใส่ ถ้าเห็นมีเรื่องอะไร ที่จะทำความเสื่อมเสียให้แก่พระศาสนา ต้องช่วยกันเอาธุระไม่ใช่คิดว่า ชั่วชั่งชี ดีชั่งสงฆ์ ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว จะเป็นการช่วยจรรโลงพระศาสนาให้มั่นคง เป็นประโยชน์ กับสาธุชนไปตราบนานเท่านาน ) "เพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นสัจธรรม ที่ไม่ว่าโลกจะวิวัฒนาการเจริญก้าวหน้าไปอีกแค่ไหน อย่างไร พุทธธรรม ก็ยังคง เป็นแสงสว่างส่องทางธรรมให้กับศรัทธาสาธุชน และทนต่อการพิสูจน์ โดยไม่จำกัด กาลเวลาแต่อย่างใด"

            คืนวันที่ ๒ ของการมาอีสาน คณะเรามาพักที่อาศรมมาตา โดยก่อนหน้านั้น พวกเราแวะทานอาหารเย็นกันที่ร้านอาหารหน้าวัดป่าสาล วันพักใหญ่ แล้วแวะส่ง อาจารย์ชนะที่บ้าน พวกเราร่ำลาขอบคุณท่าน เพราะวันพรุ่งนี้คณะเราจะเดินทาง ไปบุรีรัมย์ต่อ กว่าคณะเราจะไปถึง อาศรม มาตาราว 2 ทุ่มกว่า ขนาดมีผู้นำทางนะ ( มีลูกศิษย์ของคุณแม่ทิพย์วรรณนั่งมาด้วย ไม่งั้นข้าพเจ้าคงมาไม่ถูกเป็นแน่ เพราะแม้จะมา หลายครั้งแต่ก็ไม่ ค่อยจำทางและเพราะมาถึงมืดด้วย ) อาบน้ำเสร็จก็นอนพักกันเลย เพราะศาลาที่พักไม่มีไฟฟ้า เพื่อให้สมกับเป็นสถานปฏิบัติธรรม และอีกประการหนึ่ง ก็เพลียจากการเดินทางด้วย

            เช้าวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๙ หลังจากทานอาหารเช้าแล้ว พวกเราได้ร่วมกันทำบุญเพื่อร่วมก่อสร้างถาวรวัตถุกับคุณแม่ทิพย์วรรณ แล้วก็ร่ำลาท่าน และอาศรมมาตา โดยได้แวะมาทำบุญที่มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัยที่อยู่ใกล้ๆ กันที่นี่เป็นวิทยาลัยสำหรับแม่ชีและอุบาสิกาที่สนใจ ในการศึกษาปริยัติธรรม ( หลักสูตรปริญญาตรี ) มีคุณแม่ชียุพิน ดวงจันทร์ บริหารจัดการในตำแหน่งผู้ช่วย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สุภาพสตรี ท่านใดที่สนใจในการศึกษาพระพุทธศาสนา และปรัชญาอย่างเป็นระบบ เชิญสมัครเรียนได้ที่ ….. มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ๙๕ ม . ๗ ต . ภูหลวง อ . ปักธงชัย จ . นครราชสีมา ๓๐๑๕๐ โทรศัพท์ ๐๔๔ - ๒๔๙๓๙๘ ที่นี่ค่าใช้จ่ายให้การเล่าเรียนถูกมาก แทบจะเรียกว่าเรียนฟรีเลยก็ว่าได้ และยังมีที่อยู่ที่กิน พร้อมอย่างสะดวกและปลอดภัยด้วยค่ะ

            คณะเราออกเดินทางในตอนสาย เพื่อไปยังอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อ้อ ! ลืมบอกไปว่าไปอีสานคราวนี้ข้าพเจ้าสบายกว่าทุกครั้ง เพราะได้ ้โชเฟอร์ฝีมือดี มาทำหน้าที่เป็นสารถีประจำ คือ เจ้ฮั้ว พี่ใหญ่ที่น่ารักของน้องๆ ทุกคนนั่นเอง ข้าพเจ้าได้ขับเปลี่ยนให้เจ้เขาพักบ้างเป็นบางช่วงเท่านั้น

            ก่อนจะไปพักที่วัดบ้านหนองใหญ่ อำเภอสตึก คณะเราได้แวะไป จังหวัดสุรินทร์ เพื่อกราบคารวะหลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัด สุรินทร์ ซึ่งท่านเป็นพระอริยสงฆ์รูปหนึ่ง และเป็นศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เช่นเดียวกับ หลวงปู่ หลวงตา และหลวงพ่ออีกมากมาย ในภาคอีสาน

            คณะเราไปถึงวัดประมาณบ่ายโมงเศษ วัดบูรพาราม เป็นวัดเล็กๆ มีเนื้อที่ไม่กว้างขวางนัก เช่นเดียวกับวัดในเมืองทั่วไป พวกเราได้สนทนาธรรม และร่วมทำบุญ ทอดกฐินกับท่านเจ้าอาวาส ซึ่งท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายธรรมยุตของจังหวัดสุรินทร์ ด้วย พอท่านทราบว่าคณะของเรามาจาก จังหวัดเชียงใหม่ ท่านเลยเล่าให้ฟังว่า ท่านเองในอดีต ก็เคยไปปฏิบัติธรรมที่เชียงใหม่ เรียกว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่อยู่ในความใฝ่ฝันของท่าน
มาตั้งแต่เด็กเลยทีเดียว หลวงพ่อเจ้าอาวาสเป็นพระที่อยู่ดูแลหลวงปู่ดูลย์ อตุโลมาตลอด จนหลวงปู่มรณภาพ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้รวบรวม และ เรียบเรียงธรรมะของหลวงปู่ ซึ่งเป็นหนังสือที่โด่งดังมากในวงการศาสนาคือหนังสือ “ หลวงปู่ฝากไว้ ” ท่านใด ที่ยังไม่เคยอ่าน น่าจะหามาอ่าน เพราะเป็นหนังสือที่ดีมีคุณค่ามาก สอนง่ายๆ สั้นๆ แต่กินใจ และมีความลึกซึ้งมาก ข้าพเจ้าเองครั้งแรกที่ได้อ่านหนังสือ “ หลวงปู่ฝากไว้ ” จบ ข้าพเจ้าก้มลงกราบรูปหลวงปู่ด้วยความเคารพอย่างสูงทันที

            หลังจากสนทนาและทำบุญเสร็จ คณะเราก็พากันไปกราบคารวะรูปเหมือน และพระธาตุของหลวงปู่ที่พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เมื่อกราบ คารวะหลวงปู่ เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าหยิบกล้องดิจิตอล ยี่ห้อ Sony มากดเพื่อถ่ายภาพรูป เหมือนของหลวงปู่ไว้เป็นที่ระลึก ปรากฏว่ากดชัตเตอร์แล้ว แฟลชอัตโนมัติขึ้น แต่ชัตเตอร์ค้างกดไม่ลง ข้าพเจ้าตกใจคิดว่ากล้องเสีย ทำยังไงพยายามยังไงก็กดไม่ลง ไม่ว่าจะเป็นปุ่มชัตเตอร์หรือปุ่มเพาเวอร์ เพื่อ ปิดกล้องก็ตาม หลังจากตกใจคิดว่ากล้อง เสียอยู่ครู่หนึ่ง สติก็มาเตือนทำให้นึกขึ้นได้ว่า ข้าพเจ้าถ่ายรูปเหมือนและพระธาตุของ หลวงปู่โดย ไม่ได้บอก กล่าวขออนุญาตจากท่านก่อน ข้าพเจ้าจึงได้กราบขอขมาหลวงปู่ หลังจากกราบขอขมาท่านเสร็จ ปรากฏว่าชัตเตอร์ที่ค้างเกิดเด้งลงไปเอง ทำให้ได้
ภาพแสงสีเงินและแสงสีทองแทนอย่างน่าอัศจรรย์ แล้วกล้องถ่ายรูปก็อยู่ในสภาพปกติ ปุ่มทุกปุ่มก็ใช้งานได้ปกติเช่นเดิม ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมา จึงเดินออกไปยืนอยู่ ด้านนอกประตูทางเข้า เพราะขณะนั้นเหลือข้าพเจ้าอยู่ในพิพิธภัณฑ์เพียงคนเดียว เนื่องจากพวกพี่ๆ พากันไปบูชาวัตถุมงคลของ หลวงปู่กันหมด

            หลังจากข้าพเจ้าเดินไปเดินมาอยู่ด้านนอกประตูทางเข้าอยู่ครู่นึง ก็นึกขึ้นได้ว่าน่าจะลองขออนุญาตหลวงปู่ เพื่อขอถ่ายรูปเหมือนและ พระธาต ุของหลวงปู่ใหม่ ว่าแล้วข้าพเจ้าก็อธิษฐานขอภาพหลวงปู่เป็นที่ระลึก ขอให้หลวงปู่เมตตาให้เป็นรางวัลในการทำงานเผยแผ่ธรรมของข้าพเจ้า อธิษฐาน เสร็จก็กดถ่ายใหม่ ทำให้ได้ภาพมา ๒ ภาพ แต่รู้สึกว่าจะไม่ค่อยชัดนัก ก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า มือก็ไม่สั่น กล้องก็กล้องอัตโนมัติทำไม ได้ภาพไม่ค่อย ชัดทั้ง ๒ ภาพ

            ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าท่านเคยอ่านหนังสือ “ หลวงปู่ฝากไว้ ” ก็คงจะไม่แปลกใจแต่ประการใด เพราะแม้ เมื่อตอนหลวงปู่มีชีวิตอยู่ ก็มีเรื่องแปลกๆ ทำนองนี้อยู่เสมอ

            เมื่อพวกพี่ๆ เช่าวัตถุมงคลเสร็จ คณะเราจึงเดินทางต่อไปยังวัดบ้านหนองใหญ่ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ พวกเราเดินทางแบบไม่รีบร้อน มากนัก มีการแวะถามทาง เป็นระยะๆ เพราะไม่ค่อยรู้เส้นทางเท่าใดนัก โดยเฉพาะข้าพเจ้าและเจ้ฮั้ว ไม่เคยมาที่วัดนี้เลย ส่วนเจ้หมวยและเจ้กีเคยไป แต่ก็จำทางไม่ค่อยได้ ทำให้กว่า จะเดินทางถึงวัดบ้านหนองใหญ่ ก็เป็นเวลาประมาณ ๕ โมงเย็นแล้ว คณะเราพักที่นี่ ่ ๒ คืนทีเดียว

            วัดบ้านหนองใหญ่เป็นวัดที่มีขนาดกลาง มีเนื้อที่ประมาณ ๒๐ กว่าไร่ และกำลัง อยู่ในระยะพัฒนาในหลายๆ ด้าน รวมทั้งเพิ่งเปลี่ยนเจ้าอาวาส ไม่นานนี้ เพราะ เจ้าอาวาสองค์เก่ามรณภาพไป ท่านเจ้าอาวาสองค์ใหม่ พระบุญชอบ วุฑฒิธัมโม

            ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่มีความรู้ทั้งปริยัติและการปฏิบัติ นอกจากนี้ท่านยังมี มนุษยสัมพันธ์ที่ดีอีกด้วย จึงมีญาติโยมหลายฝ่ายมาช่วยสนับสนุน ทำให้กิจการ ของวัดเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะคุณแม่ชีศรีเพ็ญ บุญศรี อยู่ช่วย เป็นกำลังที่สำคัญของวัดด้วย นอกจากนี้ทางวัดยัง ได้ช่วย เหลือชาวบ้านในชุมชน ด้วยการอนุญาตให้ชาวบ้านมาเอาน้ำในสระและในบ่อของทางวัดไปใช้ได้รวมทั้งมีรายการเสียงตามสายให้การอบรมชาวบ้าน อยู่เป็นประจำอีกด้วย

            สิ่งที่น่าภาคภูมิใจของวัด คือ การมีศรัทธาชาวบ้านจำนวน ๕ หมู่บ้าน ประมาณ ๗๐๐ - ๘๐๐ ครัวเรือน เป็นศรัทธาของวัด และชาวบ้านส่วน ใหญ่มีศรัทธาต่อ พระพุทธศาสนาค่อนข้างดี สังเกตจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในกิจกรรมของวัดชาวบ้านมาช่วยกันอย่างเต็มใจ แม้ชาวบ้านส่วน มากจะค่อนข้างยากจน มีรายได้ ส่วนใหญ่จากการทำนา และจากการรับจ้างบ้างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นก็ตาม

            วันที่ข้าพเจ้าและคณะไปถึง คือเย็นวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๘ เป็นวันสุกดิบ คือวันเตรียมงานพิธีกวนข้าวทิพย์ ซึ่งจะมีขึ้นในคืนวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ในเวลาเช้าวันออกพรรษา มีชาวบ้านทยอยกันมาทำบุญจนเต็มศาลาประมาณไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ คน ก็นับว่าคนมามาก เพราะ วันออกพรรษานั้นไม่ตรงกับวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ หลังทำพิธีสงฆ์แล้ว ทางคุณแม่ชีศรีเพ็ญได้ขอให้ข้าพเจ้าพูดคุยกับชาวบ้านถึง ประวัติส่วนตัว ความสนใจในธรรมะ และการปฏิบัติ รวมทั้งการทำงานเผยแผ่ธรรมที่ข้าพเจ้าทำอยู่ เพื่อเป็นข้อคิดกับชาวบ้านพอสมควรแก่เวลา

            หลังจากทานอาหารเพลเรียบร้อยแล้ว พวกเราได้เดินทางไปกราบพระธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ ที่บรรจุพระบรม สารีริกธาตุและพระอรหัตตธาตุอีกหลายท่าน พระธาตุแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง ถึงความศักดิ์สิทธิ์ขนาดเคยลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หน้า ๑ เมื่อปี พ . ศ . ๒๕๔๕ และ ปี ๒๕๔๗ มาแล้วถึง ๒ ครั้ง เรื่องมีว่า เมื่อเช้าตรู่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ซึ่งตรงกับวันเข้าพรรษา ได้เกิดปรากฏ การณ์ธรรมชาติ “ อาทิตย์ทรงกรด ” เป็นแสงรุ้ง ๗ สี ๓ วงซ้อนกันอย่างน่าพิศวง

             ส่วนอีกครั้งไทยรัฐ พาดหัวว่าคน ๓ พันตะลึงงัน ฝูงงูสีทองพันพระธาตุนาดูน ขณะมีการจัดงานปฏิบัติธรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๗ พร้อมภาพถ่ายงูสีทองและงูต่างๆ เลื้อยขึ้นไปพันรอบองค์พระธาตุนาดูนอย่างน่า อัศจรรย์ใจ

            คณะเราเดินทางถึงพระธาตุนาดูนประมาณบ่าย ๒ โมง ได้ร่วมกันสวดมนต์ นั่งสมาธิ และเดินประทักษิณรอบองค์พระธาตุเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้รับความสงบ เย็นใจเป็นอย่างยิ่ง แม้อากาศวันนั้นจะค่อนข้างร้อน แสงแดดจัดจ้ามากก็ตาม เมื่อพอสมควรแก่เวลาและได้หาซื้อหนังสือ ตลอดจน รูปถ่ายพระธาตุไว้เป็นที่ระลึกแล้ว ก็เตรียมตัวเดินทางต่อไปเที่ยวในตัวเมืองมหาสารคาม ซึ่งพวกเราไม่เคยมากันเลย คณะเราได้แวะที่ตลาดเพื่อที่จะ ได้ซื้อของเตรียมไว้ใส่บาตรในตอนเช้า ตลาดในเมือง มหาสารคามไม่ใหญ่นัก คนก็ไม่ค่อยมากหรืออาจจะเป็นเพราะพวกเราไปตอนเย็น ( ประมาณ ๔ โมง ) ก็เป็นได้

            ก่อนกลับถึงวัดบ้านหนองใหญ่ คณะของเราแวะซื้อโต๊ะม้าหินอ่อน ๑ ชุดไปถวายวัด ตามคำปรารภของข้าพเจ้าที่เห็นว่าที่วัดไม่ค่อยมีม้าหินอ่อน หรือเก้าอี้ไว้ให้ผู้ที่ไปวัดนั่งกันเลย ทั้งๆ ที่ควรมีวางไว้เป็นจุดๆ แต่เนื่องด้วย โต๊ะม้าหินอ่อนมีน้ำหนักมาก ทำให้ต้องค่อยๆ ขับรถ ไม่สามารถขับเร็วได้ จึงมาถึงวัดค่ำมืดเลย ที่วัดมีคนมาร่วมงานพิธีกวนข้าวทิพย์มากมาย คณะเราก็ไป ร่วมกวนกับเขาครู่หนึ่ง ก่อนจะขอตัวไปอาบน้ำและพักผ่อน

            เช้าวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๘ หลังจากใส่บาตรเสร็จ คณะเราก็เตรียมตัวเดินทางไปจังหวัดอุดรธานี ตอนขับรถผ่านขอนแก่นคิดว่าจะแวะ พระธาตุขามแก่น แต่ด้วยความไม่รู้เส้นทางจึงทำให้ขับเลยไปกว่า ๑๐ กิโลเมตร จึงตัดสินใจ ไม่ย้อนกลับไป ไปถึงอุดรธานีประมาณบ่ายโมง แวะไป กราบทำบุญร่วมทอดกฐิน สามัคคีกับหลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาดพักหนึ่ง ยังทันได้ฟังการสนทนาธรรม ของหลวงตากับญาติโยมครู่นึง วัดป่า บ้านตาด ในปัจจุบันมีคนมากคึกคักกว่าในอดีต ที่ข้าพเจ้าเคยมามาก ด้านหน้าวัดก็มีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารหลังใหญ่ ดูเจริญกว่า ในอดีตมากเช่นกัน

            ออกจากวัดป่าบ้านตาด คณะเราได้ออกเดินทางต่อไปเพื่อกราบหลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เพื่อจะไป ทำบุญและพักที่วัด ๑ คืนด้วย ไปถึงวัดราว ๖ โมงเย็น เพราะแวะซื้อของเตรียมไว้บุญและใส่บาตรในวันรุ่งขึ้น ได้ทราบจากพระที่วัดว่า หลวงพ่อทูล ไม่อยู่ เพราะท่านได้เดินทางไป ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เช้าวันนี้แล้ว พวกเราจึงขออนุญาตพัก แล้วรีบขึ้นไปไหว้ พระธาตุเจดีย์ ก่อนที่ทางวัด จะปิดประตู พระธาตุเจดีย์วัดป่าบ้านค้อแห่งนี้งดงามมาก โดยเฉพาะภาพวาดต่างๆ ที่ติดบนผนังนั้น สวยงามมากทีเดียว พระบรมสารีริกธาตุ
ที่ประดิษฐานที่พระธาตุเจดีย์แห่งนี้ หลวงพ่อทูลได้อาราธนามาจากประเทศศรีลังกา

            หลังจากไปกราบพระธาตุเจดีย์ได้ร่วมทำบุญและบูชาหนังสือธรรมะของหลวงพ่อ ไว้มาศึกษาที่บ้านแล้ว ข้าพเจ้าได้พบกับพระรูปหนึ่งซึ่งท่าน มาช่วยจัดค่ายอบรม จริยธรรมแก่เยาวชนจากหลายโรงเรียนที่มาเข้าค่ายที่วัดป่าบ้านค้อในขณะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้สนทนาแลกเปลี่ยน ความรู้ในการ จัดค่ายอบรมเยาวชนกับท่านอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะขอที่อยู่เพื่อส่งหนังสือ “ อริยธรรม ” และซี . ดี . “ ประวัติพุทธสาวก - พุทธสาวิกา ” ของมูลนิธิฯ มาถวายให้ท่านไว้ใช้ในการเผยแผ่ธรรม

            ตอนเช้าหลังจากทำบุญเสร็จ คณะเราได้ร่ำลาคุณแม่ชีแล้วก็เดินทางกลับ เชียงใหม่ ขณะขับรถผ่านอำเภอหนองวัวซอพี่ๆ ในคณะขอแวะทำบุญ ที่ วัดถ้ำสหายธรรมก่อน จึงแวะเข้าตลาดหาซื้อของต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นผัก - ผลไม้ เพื่อนำไปทำบุญด้วย ทั้งๆ ที่การมาทัวร์บุญที่อีสานครั้งนี้ พวกเรา เตรียมของไปทำบุญ หลายอย่าง ทั้งยารักษาโรค หนังสือ ซี . ดี . และอังสะไหมพรม

            ทางเข้าวัดถ้ำสหายธรรมไม่ค่อยดีนัก บางช่วงทางไม่ดีขรุขระแล้วยังค่อนข้าง แคบอีกด้วย แต่ก็รู้สึกว่าดีกว่าครั้งก่อนที่ข้าพเจ้าพาคณะมา ทำบุญเมื่อ ๒ - ๓ ปีที่ผ่านมามาก วัดนี้เป็นวัดป่าที่อุดมไปด้วยต้นไม้เป็นจำนวนมาก มีสภาพเป็นทั้งถ้ำ

            และเขา ดูเป็นธรรมชาติที่สงบร่มเย็นมาก ท่านที่ชอบอยู่กับธรรมชาติ วัดแห่งนี้ก็เหมาะกับการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่งทีเดียวพระหลายรูปที่ บวชอยู่ที่วัดถ้ำ สหายธรรมนี้ มีความรู้ทางโลกเป็นอย่างดี และมาบวชด้วยความศรัทธาในพุทธธรรมแท้ๆ จึงดูท่านเหล่านี้มีจริยาวัตรงดงามสมกับเป็น พระธรรมทายาท สาวกของพระพุทธองค์ น่าเลื่อมใสศรัทธา ข้าพเจ้าก็ขออนุโมทนากับกุศลจิต และการตั้งใจปฏิบัติของทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย

            ออกจากวัดถ้ำสหายธรรม พวกเราแวะไปกราบรูปเหมือนและพระธาตุของ หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภูความ ที่มีเวลาจำกัด และอาณาบริเวณวัดกว้างขวางมาก จึงใช้วิธีขับรถวนไปดูแทนแล้วก็รีบเดินทางต่อ โดยพวกเราแวะทานข้าวที่ภูเรือ แล้วเดินทางต่อเข้า เชียงใหม่เลย ถึงเชียงใหม่ประมาณ เที่ยงคืนโดยสวัสดิภาพ วันรุ่งขึ้นไปเติมน้ำมันแล้ว ข้าพเจ้าขับรถไปดูงานที่ ศูนย์อุทยานธรรม ที่อำเภอสันป่าตอง หลังจากกลับมาในเมืองจึงรู้ว่ายางรถยนต์ ล้อหน้าถูกตะปู ทำให้ลมยางอ่อนมาก ช่างปะยางบอกว่า ดีว่าตะปูติดยางรถ ( เขาคิดว่ายางรถต้องถูกตะปู มานานเป็นวันแล้ว สังเกตจากตะปูที่สึกแล้ว ) เขาบอกว่า ถ้าตะปูหลุดออก ยางรถคงแบนตั้งแต่ตอนเดินทางกลับมาเชียงใหม เมื่อคืนแล้ว ถ้าเป็นอย่าง นั้นพวกเราคงจะลำบากมาก เพราะในคณะที่มาอีสานมีแต่ผู้หญิงทั้งนั้น แล้วก็มาถึงเชียงใหม่ตอนดึกอีกต่างหาก คุณพระคุณเจ้าคุ้มครองแท้ๆ เลย ข้าพเจ้าเชื่ออย่างนั้น …..         

Top