| home | พุดตานกถา | แก้ปัญหาได้ก็หายเครียด | แบบประเมินความเครียด | ปรากฎการณ์มหัศจรรย ์| ผู้รู้แห่งธิเบต |
| พระพุทธศาสนา (ตอนที่๒๑) | สมาธิเพื่อสุขภาพ | แนวทางเจริญวิปัสสนา | ธรรมะในมิลินทปัญหา | รายนามผู้บริจาค |

 

 
 

 
 

ปัจฉิมโอวาท

            วันนี้เป็นวันสุดท้าย หลังจากทำพิธีเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่สภาพปกติ ก็คงจะ เข้าใจกันแล้ว ทุกอย่างกลับไปอยู่ในสภาพเป็นทาสเหมือนเดิม เราก็หมด อิสรภาพอีก ต่อไปกลับไปรับภาระอะไรทุกอย่าง การมาปฏิบัติของเราคราวนี้ ถึงแม้ว่าจะ เสร็จสิ้นไปตามกำหนดวันที่เราได้กำหนดไว้ แต่ว่าโยคีต้อง เข้าใจว่าเรายังไม่สิ้นสุด การปฏิบัติ การปฏิบัติจริง ๆ ไม่สิ้นสุด เพราะอกุศลธรรมมันยังอัดแน่นเต็มหัวใจ ของเราอยู่ ฉะนั้นเมื่ออกุศลธรรมมีอยู่ตราบใด การประหารกิเลสของเราก็ต้องมีอยู่ ตราบนั้น เราต้องเพียรพยายามทำลายกิเลสของเราต่อไป

            การทำลายกิเลสของเราที่อยู่ทางบ้านนั้น องค์สมเด็จพ่ออุปมาเหมือน ช่างไม้ที่เขาจับด้ามมีดทุกวัน เขาไม่ต้องคิดว่า เมื่อไรหนอรอยมือของเรา จะประทับ อยู่บนด้ามมีดที่เราถือ ไม่ต้องคิดถึงเลย พอจับนาน ๆ เข้า ด้ามมีดมันก็กร่อนไป ๆ รอยมือของเราก็ประทับอยู่ในด้ามมีดนั้น ฉันใดการประหาร กิเลส เราได้แนววิธี ขององค์สมเด็จพ่อตามนัยหลักสติปัฏฐานสี่แล้ว ก็เพียรพยายามกำหนดต่อไปได้ วันละนิดวันละหน่อย กิเลสจะหมดเมื่อไรก็ไม ่ต้องพูดถึง กำหนดไป ๆ ภายหลังมันก็หมดไปเอง

            ตอนที่ฉลองพระไตรปิฎกฉบับล้านนาที่วัดสวนดอก หลวงพ่อท่านนิมนต์พระ ที่ทรงพระไตรปิฏกมา ๓ รูป รูปหนึ่งอยู่มีนกุนเป็นลูกศิษย์ ของหลวงพ่อ ผู้ทรงพระไตรปิฎกองค์แรก ท่านกล่าวว่า “ แม้แต่โยมที่นั่งตำน้ำพริกในครัว ตำไป ๆ ยังสำเร็จเป็นพระโสดาบัน ” ทำไมตำน้ำพริกจึง ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพราะว่า การตำมันเป็นทั้งรูปทั้งนาม รูปนามปรากฏอยู่ เรากำหนดว่าตำหนอ ๆ ๆ ใจที่กำหนดรู้ตามอาการ เป็นนามธรรม รูปที่ปรากฏอยู่ จิตตชรูปที่เกิดอาการอย่างนี้ ตำลงไปเป็นรูปธรรม รูปนามขันธ์ห้า ปรากฏอยู่ชัดเจน ถ้าเรามีสติกำหนด การเกิดดับก็ปรากฏ ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏอยู่ ฉะนั้นพอเขา ตำไป ๆ ไม่ใช่ตำวันเดียว ไม่ใช่มากำหนดเฉพาะตำหนอ ๆ วันเดียวนะ เดี๋ยวจะคิดว่าตำน้ำพริก ได้เป็นโสดาบัน อย่างอื่นไม่ต้องกำหนด เวลาตำน้ำพริก เมื่อไรค่อยมากำหนด ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านยกตัวอย่างให้เท่านั้น

            อาตมาได้มาพบปะท่านตอนที่ท่านมาพักอยู่วัดร่ำเปิง คุยสนทนากับท่าน ท่านเป็นพระที่ทรงพระไตรปิฎกตั้งแต่อายุยังน้อย เก่งมาก เพราะว่า การทรง พระไตรปิฎกในประเทศพม่าไม่ใช่ธรรมดาต้องท่องจำให้ได้ก่อน ถ้าสอบท่องปากเปล่าได้ถึงจะให้สอบข้อเขียน ถ้าสอบท่องปากเปล่าไม่ได้เป็น อันสอบตก แต่องค์นี้ ท่านเจริญรอยตามหลวงพ่อองค์เก่า ที่มีนกุนจะมีสำนักสอนพระไตรปิฎก เรียน พระไตรปิฎกโดยตรง ท่องพระไตรปิฎก โดยตรง อยู่ที่จังหวัดสกาย มีพระเยอะ เป็นบุญบารมีของหลวงพ่อที่ทรงพระไตรปิฎกองค์แรกในประเทศพม่า ท่านได้สร้างสำนักใหญ่ไว้เลย ท่านมีชื่อเสียงมาก

ต้องไม่ประมาท

            การปฏิบัติของเรา เราถ้ารู้ว่าในใจของเรายังมีอกุศลธรรม มีกิเลสอยู่ตราบใด เราไม่ควรประมาท ต้องเพียรพยายามอยู่ตราบนั้น ถ้าหมดแล้วก็ เป็นอันว่าหมดกัน ตอนนี้ยังไม่หมด เราประมาทไม่ได้ มันจะพาเราท่องเที่ยวไปหลาย ๆ แห่ง แม้แต่องค์สมเด็จพ่อของเรา เทศนาธรรมตั้ง ๔๕ พรรษา วันสุดท้ายที่องค์สมเด็จ

            พ่อจะปรินิพพาน พระองค์ก็ยังเป็นห่วง ยังเตือนเป็นคำสุดท้าย ในฑีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตรว่า ...

            “ หนฺท ทานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถฺ ”

            แปลว่า “ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้ายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความ ไม่ประมาทให้ถึง พร้อมเถิด ” องค์สมเด็จพ่อทรงตรัสไว้ ขนาดเทศนามา ๔๕ พรรษา สุดท้ายพระองค์ ยังสั่งเป็นคำสุดท้าย เรียกว่า ปัจฉิมวาจา พอตรัสอย่างนี้แล้ว ไม่ตรัสอะไรอีกเลย พระองค์ก็เข้าฌาน เข้าปฐมฌานออกจากปฐมฌาน เข้าทุติยฌานขึ้น ๆ ลง ๆ ไป ผลที่สุดก็ปรินิพพาน โดยอาศัย พระอนุรุทธเถระซึ่งเป็นผู้ที่ได้เอตทัคคะจากพระพุทธเจ้า ว่าเป็นผู้ที่เลิศในทางทิพยจักษุ ตาทิพย์ ท่านก็ทำหน้าที่ดูว่าตอนนี้พระพุทธเจ้าไปถึง
ไหนไล่ตามไป ๆ ตอนนี้ยังไม่ปรินิพพาน ผลที่สุดตอนนี้พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว

            ฉะนั้นธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสไว้ตลอด ๔๕ พรรษา พระองค์ตรัสว่าไปรวม จุดเดียวกันคืออยู่ที่ความไม่ประมาท อุปมาเหมือนรอย เท้าใน โลก รอยเท้าที่ใหญ่ที่สุด ก็คือรอยเท้าช้าง ฉะนั้นรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้จะไปรวมอยู่ในรอยเท้า อันเดียวก็คือรอยเท้าช้าง จะไปเหยียบๆ อย่างไรมันก็อยู่ในนั้น เพราะรอยเท้าช้าง ใหญ่ที่สุดในโลก นี้ก็เหมือนกัน ธรรมะที่องค์สมเด็จพ่อทรงตรัสไว้ตลอด ๔๕ พรรษา คือ พระไตรปิฎก ที่ปรากฏอยู่นี้ ที่เป็นเถระวาทะนับตั้งแต่พระมหากัสสปะ เป็นประธานทำสังคายนา ที่มีภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ทรงปฏิสัมภิทาและอภิญญา เตวิชชา ท่านทำไว้ตอนนั้นนับสืบมาจนถึงบัดนี้ที่เป็นเถระวาทะพระไตรปิฎก มีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ๓ ปิฎกที่เรารักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ธรรมะ เหล่านี้รวมลงจุดเดียวกันก็คือความไม่ประมาท ฉะนั้นกุศลธรรมอะไรต่าง ๆ ต้องมีความไม่ประมาทเป็นที่สุด

            ความไม่ประมาทคืออะไร ความไม่ประมาทก็คือเป็นผู้ที่มีสติ การที่จะทำให้ ตนเองมีสติก็ต้องเจริญตามสติปัฏฐานสี่วิธีการอยู่ตรงนี้ สติปัฏฐาน สี่อยู่ที่ไหน อยู่ในตัวเรานี่เอง ทำตรงนี้ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้มีขึ้น เรามาฝึกสติให้เกิดขึ้น กับตัวของเราเอง เพราะเมื่อสติเกิดแล้ว อกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอยู่ มันก็มลาย ไป ช่วงที่สติเกิดอยู่ ถ้าสติไม่เกิดก็เป็นอันว่าอกุศลมันก็เกิดต่อไปอีก ฉะนั้นเราต้อง เพียรพยายามจนถึงที่สุด เราหมดกิเลสเมื่อไร ก็เป็นอันหมดวิธีจะไปทำโน่นทำนี่ เมื่อนั้น แต่ถ้าเรายังไม่หมดกิเลส เราก็ต้องเพียรพยายามต่อไปอีก

จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน

            ฉะนั้นการเจริญวิปัสสนาจริง ๆ เรามาฝึกโดยตรงก็คือการที่มาฝึกใจ ของตัวเราเอง เป็นเรื่องของใจ เพราะการทำงานที่เรามาเจริญขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ กำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม เราใช้ใจเป็นตัวทำงาน ถ้าใจไม่มี เราทำงานไม่ได้ เอาใจไปดูกายบ้าง เอาใจไปดูเวทนาบ้าง เอาใจไปดูใจบ้าง เอาใจไปดูธรรมบ้าง เอาใจดูกายหมายความว่าเอาใจไปดูรูป ใจไปดูเวทนาก็เอาใจไปดูนาม ใจไปดูจิตก็เอาใจ ไปดูใจก็คือดูนาม แล้วใจไป ดูธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็มีทั้งรูปทั้งนาม การตรัสสติปัฏฐานสี่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นรูปล้วน ๆ เวทนานุปัสสนา กับจิตตานุปัสสนาสติ ปัฏฐานเป็นนามธรรมล้วน ๆ ส่วนธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แสดงทั้งรูปทั้งนาม ฉะนั้นการกำหนดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นการกำหนด
ทั้งรูปทั้งนามที่ปะปนกันอยู่ เราเจริญกรรมฐานมาเราต้องรู้หลักวิชาการไว้หน่อย การที่เรามาปฏิบัตินี้เป็นการฝึกใจโดยตรง ในตัวเรานี้มี ๒ อย่าง มีกายกับใจ ใจเป็นใหญ ่ ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าเราใจดี บ่าวมันก็ดีไปด้วย ถ้านายไม่ดีบ่าวก็ไม่ดีไปตามนาย มันต้องฟังคำสั่งของนาย นายสั่ง อย่างไรมันก็ต้องไปอย่างนั้น นายสั่งดีเขาก็ดี นายสั่งไม่ดีเขาก็ไม่ดีไปตามนั้น ในธรรมบท ยมกวรรค องค์สมเด็จพ่อทรงตรัส เรื่องใจเป็นนาย กายเป็น บ่าวที่เป็นภาษาไทยเราก็สืบมาจากพุทธภาษิตนี้ เรื่องของ จักขุปาลัตเถระวัตถุ กับมัฏฐกุณฑลีวัตถุ ในเรื่องนี้ ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว พระองค์ตรัสเป็นภาษาบาลีว่า

            “ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา , มโนเสฎฺฐา มโนมยา , มนสา เจ ปทุฏฺเฐสน ”

            ในคาถามัฏฐานกุณฑลีพระองค์ตรัสว่า “ มนสา เจ ปสนฺเนน , ภาสติ วา กโรติ วา ” แปลว่า มโนปุพพัง คมา ธมมา ธรรมดาใจเรา เป็นผู้นำ ไปก่อน มโนเสฏฐา มโนมยา ใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจไม่ดี ใจถูกอกุศลประทุษร้าย เป็นใจที่ไม่ดี การทำ การพูด การคิดก็เป็นไปในทางที่ไม่ดี การทำทางกายก็ไม่ดี ทางวาจาก็ไม่ดี แต่ถ้าใจดีแล้ว กาย วาจาก็ด ี ฉะนั้นเมื่อเรารู้จุดสำคัญในตัวเรานี้ เราต้องพยายามรักษาใจของเรา พยายามฝึกใจของเรา ถ้าอยู่บ้าน มันเข้าถึง ความยึดถือเป็นเราหมด คือโกรธก็เราโกรธ อยากได้ก็เราอยากได้ ดีไม่ดีมัน เข้าถึงความ เป็นเราหมด เราดูไม่ออก แต่ถ้ามาตรงนี้เราแยกแยะได้ว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี ถ้าโทสะเกิดขึ้นมา โลภะเกิดขึ้นมา โมหะเกิดขึ้น ความอิจฉาริษยาเกิดขึ้น ความอาฆาตมาดแค้นเกิดขึ้นมา เราก็รู้ที่กำหนด รู้ที่ระงับด้วยการเข้าไปกำหนดรู้ตาม ไม่ต้องไปทำอะไรเลย หงุดหงิดขึ้นมา ก็น้อมไปสภาพที่เป็นปัจจุบันของความ หงุดหงิดนั้น ก็คืออาการที่กำลังคิดหงุดหงิดอยู่ โดยไม่คิดไปค้นหาว่าเหตุใดจึงหงุดหงิด เราก็กำหนดลงไปว่า หงุดหงิดหนอ ๆ ดูอาการมัน ไม่เอาความหงุดหงิดมาเป็นเรา เมื่อก่อนเราไปคิดว่าเวลาหงุดหงิดขึ้นมา เราหงุดหงิด เรากลุ้มใจ แต่ตอนนี้เราไม่เอา
เราเข้าไปยุ่งกับความหงุดหงิดนั้น เข้าไปดูเขา เข้าไปดูอาการนั้น จนกว่าอาการนั้น จะระงับไป ดับไป กิเลสมันไม่สามารถ ใช้ให้เราด่า ใช้ให้เราทุบ ให้เราตี ไม่ได้แล้ว ฉะนั้นตัวใจสำคัญที่สุด

            ในชีวิตประจำวันของเราที่เป็นอยู่ เวลาโกรธขึ้นมา ไม่พอใจ หรือเสียใจขึ้นมา เราจะดูตัวเอง หรือเรามุ่งออกไปข้างนอก สมมุติเราเสียใจ เราจะ คิด มุ่งออกไปข้างนอก เราจะว่าคนอื่นทำให้เราเสียใจ แหมคนอื่นไม่น่าทำให้ฉันกลุ้มเลย คนนี้ไม่น่าจะทำ ให้ฉันเสียใจเลย เราจะไปโทษคนอื่น ว่าเป็น เพราะเขาทำให้เราร้องไห้ ทำให้เราเสียใจ ทำให้เราเป็นอย่างโน้มอย่างนี้ จริง ๆ แล้ว ความดีใจ ความเสียใจที่เป็นอยู่ คนอื่นทำให้เราไม่ได้ เราคิด ของเราเอง ถ้าทำได้ สมมุติอาจารย์บอกว่า “ โยคีจงร้องไห้ๆ ” นั่งยิ้มกันเป็นแถว ไม่มีใครร้องไห้เลย นี้แสดงว่าอาจารย์ทำให้ไม่ได้ คนที่เสียใจบอกว่า “ จงหายเสียใจ ๆ หรือความเสียใจจงหายไป อย่าได้มี “ มันก็ยังนั่งเสียใจอยู่ตรงนั้นเอง เราก็ทำให้ไม่ได้อีกเหมือนกัน อย่างที่อาจารย์เคยอุปมาเมื่อก่อน เหมือนเราไปดูคน ที่แสดงตลก คนที่เขาแสดงตลกจุดประสงค์ของเขาต้องการให้เราหัวเราะหรือขำ ในอาการที่เขาแสดงนั้น แต่เราลองคิดดูว่า เราขำ ทุกครั้งที่เขาแสดงไหม ไม่ได้ขำ ทุกครั้งที่เขาแสดง เรานึกขำเรื่องไหน เราก็ขำไป เราไม่นึกขำเรื่องไหน เราก็เฉย ๆ ไม่เห็นจะขำเลย บางทีเขาแสดง อยู่ตั้งนาน ไม่ขำ แต่พอไปเห็นอีกลักษณะ หนึ่งอาการหนึ่ง หัวเราะท้องคัดท้องแข็งเลย เป็นต้น

             ในสมัยที่อาจารย์เรียนหนังสืออยู่ที่วัดเมืองทาง ตอนนั้น พ . ศ . ๒๕๐๕ เข้ากรรมฐานแล้วก็เรียนหนังสือที่นั่นต่อเรียนอภิธรรม ซึ่งอาจารย์สนุ่น ฐานุตฺตโม ท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วัดระฆัง แต่มาสอนแบบวัดมหาธาตุ ในสมัยนั้น เขาสอนชั้นละ ๓ ปริจเฉท ทั้งหมด ๓ ชั้นมี ๙ ปริจเฉท รุ่นที่ อาจารย์เรียน เพื่อนร่วมรุ่นก็รุ่นเดอะทั้งนั้นเลย พ่อดาบแดง แม่บัวจันทร์ เจ้าแม่สุคันธา รุ่น ๗๐ - ๘๐ ขึ้นไป มีแต่อาจารย์องค์เดียวอายุน้อยกว่าเพื่อน ตอนนี้ไม่รู้ไปอยู่ไหนกันแล้ว ก็คงจะย้ายชาติกันไปหลายคนแล้ว ไม่ค่อยได้เจอกัน อาจารย์ท่านบอกว่า “ ที่เราหัวเราะ เรายิ้มครั้งหนึ่ง หัวเราะครั้งหนึ่ง อายุยืนไป ๗ วัน มันชื่นอกชื่นใจ แต่ถ้าหัวเราะ นาน ๆ ตายเดี๋ยวนี้เลย ” เพราะมันหายใจไม่ออก อึดอัดตายเลย เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ฉะนั้นการที่เรา ไปดูตลก เขาต้องการให้เราหัวเราะ แต่จะขำไม่ขำ หัวเราะ ไม่หัวเราะ ชอบใจหรือไม่ชอบใจ อยู่ที่เรา ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เขา นี้ก็เหมือนกัน เรื่องราว
เศร้าโศกเสียใจอะไรต่าง ๆ ที่มาปรากฏกับเรา เราอย่าไปคิดว่าเขาทำเรา เขาเป็นคนทำให้เราโกรธ ทำให้เราเสียใจ จริง ๆ แล้วไม่มีใครทำให้เราได้ องค์สมเด็จพ่อพระองค์ตรัสไว้ในธรรมบทในอัตตวรรคว่า

            อตฺตนาว กตํ ปาปํ , อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ .

            อตฺตนา อกตํ ปาปํ , อตฺตนาว วิสุชฌฺติ .

            สุทธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ , นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย .

            พระองค์ตรัสว่าเราทำบาปเองเราย่อมเศร้าหมองเอง เราไม่ทำบาปเอง เราย่อมหมดจดเอง ความหมดจดและความเศร้า หมองเป็นเฉพาะตน คนอื่น จะทำให้คนอื่นหมดจด คนอื่นจะทำให้คนอื่นเศร้าหมองไม่ได ้ ฉะนั้นการที่ใหน ชีวิตประจำวันของเราจะ  ไปมัวโทษคนอื่น เขาไม่มีสิทธิ์เลย ถ้าทำได้ เวลาเราอิจฉาใคร ว่าคนนั้นเขามีความสุข แล้วคิดให้เขาจงเป็นทุกข์ เขาก็ไม่ได้เป็นทุกข์อย่างที่เราว่า เราทำให้เขาไม่ได้ คนที่เป็นทุกข์ เราขอให้เขาจงเป็นสุข เขาก็เปลี่ยนแปลงเป็นสุขไม่ได้ มันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แม้แต่องค์สมเด็จพ่อก็ยังไม่สามารถ จะล้างผลาญกิเลส ของสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เลย เพียงแต่บอกวิธีให้เท่านั้นเอง ว่าควรทำอย่างไร ไม่ควรทำอย่างไร ทำอย่างไรเราถึงจะพ้นจาก สภาวการณ์อย่างนั้น

             ฉะนั้นเมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ความสำคัญอยู่ตรงไหน อยู่ตรงใจของเรานี้ แล้วใจของเราจะดีขึ้นได้ เราต้องชำระ วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ การเจริญ วิปัสสนา คือเราชำระใจทุกวัน ใจมันแอบไปไหน เรากำหนดมันอยู่ มันออกไปอีก มันหงุดหงิดหรือ มันเป็นอย่างไร เรากำหนดมัน ผลที่สุดมันวิ่งไปวิ่งมา วิ่งไปไหนไม่ได้ ก็กลับมาอยู่ตรงนี้เอง เราลองคิดดู สองวันแรกที่เราปฏิบัติ ใจมันดิ้นรนกระสับกระส่ายกระวนกระวาย แต่พอเราหนอหลาย ๆ วันเข้า มันก็ดีขึ้นมา เชื่องขึ้นมา ทุกอย่างมันก็จะดีขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะว่าเราสร้าง แต่ถ้าอยู่มา หลายวันแต่ไม่กำหนด มันก็ดีขึ้นมาไม่ได้ ฉะนั้นให้เราเข้าใจว่า มันจะดีไม่ดีอะไรต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับเรา เราต้องเพียรสร้างให้แก่ตัวของเราเอง เพียรพยายามกำหนดของเราเอง แล้วมันก็จะดี ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนที่สุดมาถึงวันนี้ ถึงแม้เราจะไม่สุดยอด แต่เราก็ พอจะรู้ว่าเราได้ไม่ได้อะไร แล้วให้รู้ที่มาที่ไปว่าจุดสำคัญที่สุดในชีวิตคือ การที่
จะทำใจให้ดี คือ ทำใจให้มีสติ แล้วทุกอย่างมันเป็นเหตุเป็นผลในตัว ถ้าเราเข้า ถึงธรรมจริง ๆ ไม่ต้องให้ใครอธิบายเป็นพิเศษเลย แต่จะรู้ว่าควรจะทำใจ อย่างไร ไม่ควรทำใจอย่างไร

การปฏิบัติที่บ้าน

            เมื่อเรากลับไปสู่บ้าน ชีวิตประจำวันของเรา เราต้องทำอย่างไร อาจารย์บอกว่า จุดสำคัญอยู่ที่ใจ ฉะนั้นเวลาตื่นขึ้นมาเราต้องกำหนดตื่นหนอก่อน ที่กำหนดตื่นหนอ เพราะตอนที่เราหลับท่านอุปมาเหมือนเรายกคัดเอ๊าท์ลงอะไรทุกอย่างมันเงียบ ดับไปหมดแล้ว ดิ่งลงไปสู่ไปภวังค์ เราไม่รับรู้อะไรแล้ว ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราไม่ได้งาน หลับไป แต่ว่าใจมันคิด มันคิดเรื่องอารมณ์ในอดีตภพที่ผ่านมา เป็นกรรมนิมิต คตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ตัวเองรับมาในอดีตชาติ จากมรณาสันนวิถี จิตจะไม่รับอารมณ์ปัจจุบันนี้เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดเงียบหมดเลย ทวารทั้ง ๖ ปิดแล้ว ไม่เปิดรับ อะไรทั้งนั้น พอปิดไปอย่างนี้ ตื่นมาเหมือนเราขึ้นคัดเอ๊าท์ แล้วใจมันเริ่มเปิดก่อน ใจมันเริ่มเปิดตอนที่เราเริ่มรู้สึกตัวขึ้นมา เปิดใจก่อน ตา หู มาทีหลัง ทีนี้พอเปิดขึ้นมา เราก็ต้องรีบกำหนด ต้องดูว่าก่อนนี้เราตื่นขึ้นมาใหม่ ตัวใจก็เริ่มทำงานแล้ว พอใจเริ่มทำงาน เรามีตา เราจะต้องเปิดตา ต้องมีการเห็น มีหูต้องมีการได้ยิน มีจมูกต้องมีการได้กลิ่น มีลิ้นต้องมีการรู้รส มีกายต้องมีการสัมผัส มีใจต้องรับรู้เรื่องราวอะไรต่าง ๆ

            สิ่งที่จะมาปรากฏในทวารทั้ง ๖ ของเรา จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่มาปรากฏ รูปไม่เป็นรูปที่ดีเสมอไป รูปที่เราเห็นมันก็มี ๒ อย่าง มีรูปที่ดีกับไม่ดี เราจะตั้งข้อแม้ว่าการเห็นของฉันจะต้องเห็นแต่สิ่งที่ดีอย่างเดียวไม่ได้ เพราตามหลักอภิธรรมนัยแล้ว กายนี้มันเป็นสถานที่ส่งผลของกรรม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นที่ส่งผลของกรรม เพราะตัวจักขุวิญญาณมันมีอยู่ ๒ อย่าง เป็นวิบากจิต ถ้าเห็นดี กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น เรียกว่า จักขุวิญญาณกุศลวิบากจิต ถ้าเห็นไม่ดี อกุศลวิญญาณที่เป็นวิบากจิตเกิดขึ้น กรรมมันส่งผล เห็นดี เห็นไม่ดี เกิดจากกุศลกรรม อกุศลกรรมที่เราทำไว้ เขาจะส่งผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นตัววิบากจิต ถ้ากุศลธรรมส่งผล รูปที่มาปรากฏกับเรา ต้องเป็นรูปที่ดี ถ้าอกุศลธรรมส่งผล รูปที่จะมาปรากฏกับเราก็เป็นรูปที่ไม่ดี กรรมนี้หลีกไม่ได้ ท่านอุปมาเครื่อง รับกรรมของเราเหมือนเครื่อง รับโทรทัศน์ คลื่นที่ส่งมามันมีทั้งดีและไม่ดี เราเปิดโทรทัศน์ปุ๊บจะให้คลื่นที่ดีเท่านั้นส่งมา ที่ไม่ดีอย่าเข้ามา ทำอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องมีทั้ง ๒ อย่าง ทั้งคลื่นที่ดี และคลื่นที่ไม่ดี ฉะนั้นเมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วว่า เรามีตา เราก็จะต้องมีการเห็นรูปร่างที่ดีและไม่ดี เรามีหู ก็ต้องยินเสียงที่ดีและไม่ดี เรามีจมูก ก็ต้องได้ทั้งกลิ่นที่ดีและไม่ดี เรามีลิ้น รสดีรสไม่ดีก็ต้องมาปรากฏ เรามีกาย ก็ต้องมีการสัมผัส โผฏฐัพพะที่ดีและไม่ดีมาปรากฏ เรามีใจ ก็ต้องมีทั้ง
เรื่องราวที่ดีและไม่ดีมาปรากฏ

กรรมและผลของกรรม

            เมื่อเรารู้เท่าทันอย่างนี้แล้ว เรามีสติกำหนดไว้ล่วงหน้าก่อน เรารู้เท่าทัน ใจเราจะไม่หวั่นไหว เมื่อเรารู้ว่าเราจะต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้ หลีกหลบ ไม่ได้ เราก็ต้องเผชิญ ต้องยอมรับเรื่องกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่จะหลบหลีกไม่ได้ ใครเป็นคนทำ คนนั้นต้องยอมรับผลของมันด้วย ฉะนั้นเวลารับผลของ กรรมต้องปลงให้ตก ว่าเราทำเรานะ เราด่าเรา เราตีเรา เราโกงเรา ไปว่าคนอื่นไม่ได้ แต่ส่วนมาก เราไปโทษคนอื่น ที่จริงกรรมเราทำของเราไว้ ยกตัวอย่างคนอื่นเขามาด่าเรา แต่เรากลับคิดว่า เราด่าเรา เป็นไปได้อย่างไร ถูกหรือเปล่า ถ้าไม่ถกแสดงว่า เรื่องกรรมผิด ที่เขาด่าว่าเรา นั้นเป็นกรรม ใหม่ของคนนั้น อกุศลธรรมกำลังเกิดกับเขา และสั่งให้กาย วาจาของเขาด่าออกมา เป็นกรรมใหม่ของคนที่กำลังด่าอยู่ แต่ว่าเป็นกรรมเก่าของเรา เขาทำกรรมใหม่ให้กับตัวเขาเอง แปลว่าที่รับอยู่เป็นกรรมเก่า ของเรา ฉะนั้นเราทำเรา เวลาพูดถึงเรื่องกรรมก็ควรพูดว่า มันเป็นกรรมของเรา แต่ปลงไม่ตก เพราะว่าเรายังไปโทษว่าเขาทำเราอยู่ ถ้าว่าเราทำเราแล้วเรา จะไปโกรธใคร อุปมาเหมือนเราเข้าไปในถ้ำ เสียงมันก้องได้ เราด่าออกไป พอเสียงไปกระทบผนังถ้ำ มันก็กลับย้อนมาหาเราเราโกรธไหม เราได้ยิน เราไม่โกรธ เพราะรู้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงด่าของเรา ยิ่งด่าออกไปก็ยิ่งสนุกอีก แต่ที่เราไม่โกรธ เพราะคำนั้นเป็นคำด่าของเรา ถึงแม้คำนั้นจะเป็นคำหยาบอย่างไรก็แล้วแต่ ชัดเจนอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เราไม่โกรธ เพราะเราคิดว่า คำนั้นเป็นคำด่าของเรา แต่ถ้าคิดว่าเป็นของเขาด่าเรา เราโกรธขึ้นมาทันที ฉะนั้นเรื่องกรรมต้องว่า ใครทำใคร เราทำเรา เราด่าเรา เราตีเรา เราโกงเรา ฉะนั้น ในติสสะวัตถุ ในยมกวรรค พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํ , อชินิ มํ อหาสิ เม . ”

            ถ้าเราไปคิดว่าคนอื่นเขาด่าเรา เขาตีเรา เขาโกงเรา เขานำสิ่งของเราไป ถ้าเราไปคิดอย่างนั้น เราคิดผิด ที่ถูกเราต้องยอมรับกรรมของเรา เวลาเราทำเราทำ ด้วยหน้าชื่นตาบาน เวลาผลของกรรมส่งผล กลับไปโทษคนอื่นมันไม่ถูก

            ฉะนั้นเรื่องของกรรมต้องปลงเข้ามาหาตัวเองว่า เราด่าเรา แต่คนส่วนมาก ไม่ยอมรับในข้อนี้ว่าเป็นกรรมของตัวเอง อย่างอุบาสกที่อาจารย์เคย ยกตัวอย่าง เรื่องอุบาสกมหากาฬ ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าตลอดรุ่ง ตื่นเช้ามานั่งล้างหน้า ที่สระโบกขรณี วัดเชตวัน ขโมยที่ไปลักของเขาทำเสียงดัง จนชาวบ้านเขาไล่ตามมา เขาถือห่อของมาด้วย วิ่งมาทางวัดเชตะวัน จวนตัวไม่รู้จะเอาของไปไว้ที่ไหน ไปวางไว้ข้างอุบาสกมหากาฬ แล้วตัวเองก็วิ่ง ต่อไป คนที่ตามมาไม่พูด ไม่สอบถาม รุมกันทุบมหากาฬที่ฟังธรรมมาตลอดรุ่งตาย ตายฟรี ทั้ง ๆ ตัวเองไม่ได้ ไปลัก ภิกษุสามเณรมาตักน้ำ มาเห็น อุบาสกที่ฟังธรรมทั้งคืนมานอนตายเพราะ เหตุนี้ ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านพูดเป็น ๒ อย่างว่า “ การตายของอุบาสกคนนี้ไม่เหมาะ สมกับเขาในปัจจุบันภพของเขาจริง แต่ว่าเหมาะสม กับกรรมที่เขาทำไว้แล้วในอดีต ” ไม่เหมาะสมกับปัจจุบัน เพราะว่าเขาไม่ได้ทำกรรมอย่างนี้ ไม่ได้ไปลักไม่ได้ไปทำชั่วอะไรเลย แต่ว่าเหมาะสมกับกรรม ของเขาที่ทำแล้วในอดีต ไม่ใช่คนอื่นทำเขา ปัจจุบันเหตุมันต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเหมาะสมกัน เวลากรรมจะให้ผล มันจะต้องบันดาลเหตุการณ์ให้เกิดขึ้น และทำให้ประสบกันพอดีเลย แต่ว่ามันเป็นกรรมใหม่ของคนที่มาทุบตีเขา แต่เป็นกรรม เก่าของอุบาสกคนนี้เพราะในสมัยอดีตกาลก่อนนั้น เขาเป็นราชภัฏของพระเจ้าแผ่นดินให้ส่งคนฟากนี้ข้ามไปฟากดงข้างโน้น เพราะว่าในดงมีโจรอยู่ คอยปล้นคนที่ข้ามดง วันหนึ่งเห็นสามีภรรยาคู่หนึ่งเพิ่ง แต่งงานใหม่ ภรรยาเขาสวย จึงคิดจะฆ่าสามี เอาภรรยาเขา คิดแล้วไม่ส่งเขาข้ามฟาก ให้มา นอนที่บ้าน เลี้ยงอาหารเสร็จแล้วใกล้รุ่งให้คนเอาแก้วมณีไปใส่ไว้ในยาน ของสามีภรรยานั้น แล้วทำเป็นเสียงโจรปล้นบ้าน ผลที่สุดให้คนไปค้นได้ของ คืนมา แล้วทุบสามีเขาตาย แทนที่จะฆ่าทั้ง ๒ คน ใส่โทษเขา แล้วก็เอาภรรยาเขาไว้ ผลที่เขาทำอย่างนั้น ทำให้เขาไปตกนรก และหลาย ๆ อัตภาพที่เกิด เป็นมนุษย์ก็จะ ต้องถูกใส่โทษอย่างนี้ ถูกฆ่าตายอย่างนี้ ฉะนั้นมันเหมาะสมกับกรรมที่เขาทำแล้ว เขาทำให้แก่ตัวเขาเอง ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

“ น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ , น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวิสฺส . ”

            แปลว่า ไม่ว่าที่ไหน ๆ จะเป็นที่หลีกลี้หนีผลของกรรมนั้นไม่มีเลย ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเหาะไปในอากาศก็ตามบุคคลนั้นจะอยู่ท่าม กลางมหาสมุทรก็ตาม บุคคลนั้นจะไปอยู่ในถ้ำก็ตาม สถานที่หลีกลี้หนีผลของกรรมไม่มีเลย ฉะนั้นกรรม นี้เหมาะสม เวลากรรมจะให้ผลไม่ได้ดูว่า บุคคลนั้นจะเป็นพระพุทธเจ้า บุคคลนั้น มีคุณวิเศษหรือไม่มีคุณวิเศษ กรรมจะไม่สนใจ กรรมยุติธรรมมาก ทำไว้อย่างไร กรรมจะให้ผลอย่าง นั้น แล้วยังไม่ยอมรับ มามัวนั่งเทศน์อยู่ทำไมแทนที่จะบอกนางวิสาขา นายอนาถะ พระเจ้าปเสนทิโกศล หาเครื่องบริหารครรภ์มาให้ตัวเอง ทำแล้วทำไม  ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ” ขนาดเป็นพระพุทธเจ้ายังถูกใส่ความอย่างนี้ นี้เป็นอกุศลกรรม ตอนที่พระพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นนักเลงสุรา ไปด่า พระอรหันต์ ที่เข้ามาบิณฑบาต ว่า “ ท่านเป็นผู้บริโภคกาม ” วจีเภทนั้นทำให้ท่านไปตกนรกอยู่นาน และในทุก ๆ ชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ทำให้ท่านต้อง ถูกใส่ความอย่างนี้ แม้แต่ชาติสุดท้ายเป็นพระพุทธเจ้าสูงสุดไม่มีใครเสมอเหมือน กรรมยังให้ผลเลย พระพุทธเจ้าถูกใส่ความปรากฏชัด จริง ๆ มี ๒ เรื่อง คือเรื่องของนางสุนทรีปัพพะชิกา และเรื่องของนางจิญจมาณวิกา เขาพยายามทำลายชื่อเสียงของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเวลากรรมให้ผล ใครทำใคร
ก่อไว้ต้องได้รับผลกรรมแน่นอน

            ปัจจุบันเราทำกรรมอะไร เรารู้ได้ แต่อดีตภพของเรานับภพนับชาติไม่ถ้วน อดีตกับปัจจุบันอะไรมากกว่ากัน อดีตภพมากกว่า อดีตภพเราจะรู้ได้ สังเกต ได้ใน ปัจจุบันถึงแม้เราจะไม่ได้อภิญญา แต่เราสามารถรู้ได้ว่าในอดีตเราทำกรรมอะไรไว้ เราจะรู้ได้ตอนไหน ตอนที่กรรมกำลังให้ผลในปัจจุบัน เจอเขาโกงเรา แสดงว่าเมื่อก่อน เราคงไปโกงเขาไว้ โยคีต้องเข้าใจว่าเราทำกรรมไว้ในอดีต เราอย่าไปคิดว่าคนอื่น เขาทำเรา การทำกรรมขึ้น อยู่กับใจ ถ้าใจไม่คิดทำชั่วแล้ว ความชั่วจะเกิดไม่ได้ ถ้าใจไม่คิดทำดีแล้ว ความดีก็จะเกิดไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้นเราต้องเลือกเอาว่า เราจะสร้างแบบอย่างไร ให้กับชีวิตของเรา จะให้ตัวเองตกนรกหมกไหม้ ได้รับความ ทุกข์ทรมาน มีความสุขดีกับความทุกข์ทรมาน ก็ทำความชั่วมาก ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่มีใครห้าม แต่ถ้าเราต้องการให้ตัวเรามีความสุขพ้นจากทุกข์ เราก็ทำฝ่ายดีไป ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา มีให้เลือก ๒ ทาง ทางดีกับทางไม่ดี

            ฉะนั้นการที่เรามาเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นทางดี เป็นหลักใหญ่เลย เราได้มาฝึกจิตใจรู้วิธีระงับจิตใจวิธีการคือต่อไปอยู่บ้านตื่นมารีบกำหนด ก่อน รู้ว่าเราต้องเปิดหูเปิดตาเปิดจมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว พอเปิดแล้วการได้เห็น การได้ยิน การได้กลิ่น รู้รส ถูกต้องสัมผัส ทั้งที่ดีและไม่ดี มันจะไหลเข้ามา เป็นแถว จงอย่าเอาความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปยุ่งกับสิ่งเหล่านั้น เวลาจะทำอะไรเราต้องตั้งใจ กำหนดก่อน จะเขียนจะทำอะไร ก็ตั้งจิตกำหนด เขียนหนอ ๆ เสร็จแล้วก็ลงมือเขียนเลย นอกจากนั้นถ้าเราเดินไปไหน ก็กำหนด ขวาย่าง ซ้ายย่าง ขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดไปเท่าที่เราจะทำได้ โอกาสมีอยู่ ถ้าเรา ทำงานเสร็จแล้วว่าง ไม่มีอะไรจะทำแล้ว เราก็นั่งพัก ไม่ต้องเอามือมาประสานกัน วางมือพัก น้อมใจกำหนดดูอาการสัก ๕ - ๑๐ นาที ดีกว่าเราไม่ได้ทำ วันหนึ่ง ๆ เราต้องหาเวลาให้กับตัวเองว่าภายใน ๒๐ กว่าชั่วโมงที่เราตื่นมาจนถึงเราจะนอนหลับเรามีเวลาไหน ตอนไหนว่าง ปลอดจากการงาน จริง ๆ แล้วก็หาเวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิทำให้ได้เป็นกิจจะลักษณะ แต่อย่างอื่นก็ให้กำหนดไปเท่าที่เราจะทำได้ การกำหนดก็คือ การตั้งสตินั่นเอง แล้วเราจะได้สติทุกเวลาที่เรากำหนด ไม่เสียสตางค์ด้วย ถ้ามีกิเลส แต่สู้อำนาจของกิเลส ไม่ได้เราไม่ได้กำหนด ก็ไม่ได้สติ กุศลกรรมเขาไม่ได้ง้อเรา มีแต่เราต้องไปง้อให้เขาเกิด โยคีต้องเพียรพยายามกำหนดในชีวิตประจำวัน เราอย่าไปทิ้ง จะซักผ้าก็ซักหนอ ๆ จะล้างหน้า แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ อะไร ๆ เราก็ไว ๆ ได้ แต่กำหนดไปตามนั้นด้วย เราจะเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือทำกิจกรรมการงานอะไรก็แล้วแต่เราต้องม ีสติไป ตาม อาการนั้น ตามสมควรแก่การงานนั้น ๆ คือ การกำหนด เป็นตัวสำคัญ เป็นหัวใจ เรากำหนดได้เมื่อไร สติก็เกิดเมื่อนั้น ฉะนั้นเห็นหนอ ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส เราเข้าห้องน้ำห้องส้วม จะทำอาการใด ๆ เรากำหนดได้หมด ไม่มีปัญหา ยิ่งเราอาบน้ำยิ่งสบาย แต่อย่าไปหนอนาน ห้องน้ำห้องส้วมมีน้อย แต่ถ้าเรามีห้องน้ำ เป็นอิสระส่วนตัวไม่เป็นไร เราจะอาบอย่างไร นอนอย่างไรไม่มีปัญหา แต่ว่าสำหรับ ที่ต้องใช้หลาย ๆ คนไป หนออย่างนั้น คนอื่นเขาเดือดร้อน คิดว่าโยคีคงเข้าใจ และนำวิธีการและพุทธวิธีที่องค์สมเด็จพ่อตรัสไว้ พยายามนำไปใช้ในชีวิต ประจำวันของเรา

            ถ้าอกุศลอันใดเกิดขึ้นมาอย่าพุ่งออกไปข้างนอก รีบระงับกำหนดให้มันดับ ดับแล้วค่อยพูดค่อยทำ ช่วงที่อกุศลมันกำเริบอยู่อย่าไปพูด อย่าไปทำ อย่าไปคิดต่อ ต้องระงับก่อน ขอให้ทุกคนต่างคนต่างพยายามบ่มกิเลสของตัวเอง สร้างสติให้เกิด การทะเลาะเบาะแว้งจะไม่มีโอกาสเกิด เพราะเรา ทะเลาะเบาะแว้งกับกิเลสของเรา วัน ๆ หมดไป ไม่ต้องไปทะเลาะกับคนอื่น แต่ว่าเราออกไปจากศูนย์ปฏิบัตินี้ ต้องเข้าใจว่าเราไปสู่ดงของกิเลส แม้ใน ครอบครัวของเรา หรือในที่ทำงานก็ตาม คนที่เราไปอยู่ด้วยต่างมีกิเลสด้วยกัน ถ้าเขาได้รับการอบรม ก็ไม่มีปัญหา แต่สำหรับคนไม่ได้รับการอบรมมีมาก เวลาเขาจะแสดงออกมาเขาก็จะแสดงเต็มที่ แต่เราได้รับการอบรม เราไปอยู่กับกิเลสของคนที่ไม่ได้รับการอบรม ถ้าเราไม่ระวังตัว ให้ดี ระวังเราจะตาม กิเลสเขาไป เราต้องรู้ว่าออกไปนี่เราต้องไปสู่ดงกิเลส แต่กิเลสของเขากับกิเลสของเรา กิเลสของเราดีกว่าเขาหน่อย เพราะกิเลสของเรา ได้รับ การอบรม ว่านอนสอนง่าย กิเลสของเขาหยาบ เพราะไม่ได้รับการอบรม มีอะไรมันก็ออกมาเต็มที่เลย แต่ของเราพอเกิดขึ้นปุ๊บเรารีบระงับเลย โกรธหนอ ๆ ไม่พอใจ หนอ ๆ จนดับไป พอดับแล้ว เราสงบแล้ว เราเยือกเย็นแล้ว คนอื่น ที่อยู่กับเราจะร้อนหรือไม่ร้อนก็ตาม ถ้าเราร้อนเขาก็ร้อนไปด้วย ถ้าเราสงบเยือกเย็นแล้ว ก็ไม่มีอะไรร้อนอกร้อนใจ สำหรับคนที่เขาไม่รู้จักระงับอารมณ์นี้ มีอะไรเกิดขึ้นก็ชี้หน้า ว่ากันเลย อย่างนี้แย่เลย ดังโยมที่ทำงานอยู่ที่กระทรวงเกษตร อยู่ติดกับวัดของอาจารย์ เข้ามาหา เขาไปปฏิบัติที่ยุวพุทธฯ ออกมาแล้ว เจอหัวหน้าที่สูงกว่าเขาเล่นงาน ว่ากล่าวต่างๆ นาๆ โยมรับไม่ไหว อาจารย์เลย บอกว่า “ โยมคิดผิดเอง โยมไป เห็นกิเลสเป็นคน ไม่เห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลส ถ้าเห็นกิเลสเป็นคนขึ้นมา เมื่อไหร่ก็ยุ่งละ ” พอสะกิดบอกแค่นี้ เขาก็เข้าใจแล้ว ระดับผู้ใหญ่ไม่ต้องพูดมาก เราไปเห็นกิเลสความเป็นคน มันถึงยุ่ง ถ้าเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลสละไม่ยุ่ง เพราะอะไร เพราะเราดูว่า โทสะที่เกิดกับเรากับเขามันก็มีสภาพเหมือนกัน มันไม่ได้ ต่างกัน แต่ตอนนี้กิเลสโดยได้โอกาสเกิดกับรูปนามนั้น มันก็ต้องแสดงกาย วาจา ใจ ไปตาม ลักษณะของเขา เวลาคนอื่นเขาโกรธ เขาด่าออกมา เราเห็นว่าเขาไม่ดี แต่เวลาที่เราโกรธขึ้นมา เราก็ด่าคนอื่นเหมือนกัน กลับบอกว่าเราเก่ง คนในโลก
เขาถือกันอย่างนั้น พอเรารู้จักธรรมะแล้วว่า สภาพของกิเลส ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ความอิจฉา ความริษยา อะไรก็แล้วแต่ ได้โอกาสเกิดกับใคร
มันก็้องเป็นไปอย่างนั้น มันต้องทำให้จิตใจ รูปนามของคนนั้นเป็นไปอย่างนั้น เกิดกับเราก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องเห็นกิเลสโดยความ เป็นกิเลส อย่าเห็นกิเลสโดยความเป็นคนโยมก็เลยยิ้มไปได้ สบายใจแล้ว อุตส่าห์หนอมา ตั้งหลายวัน ยังเห็นกิเลสเป็นคนอยู่เลยยุ่ง

            ฉะนั้นอาจารย์ขอให้คติแก่โยคีว่า เรามาฝึกอบรมใจ จุดสำคัญที่สุดในตัวของ บุคคลเราก็คือ ใจ เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราจงรักษาใจของเราโดย การสร้างสติตามหลัก สติปักฐานสี่ อย่างทิ้งการกำหนด เราออกไปแล้ว เราจะต้องไปสู่กลุ่มของบุคคล ที่มีกิเลสด้วยกัน เราต้องระวัง ระวังตั้งแต่ตื่นมา ตั้งสติตั้งแต่ตื่นมา จนถึงเราหลับ เราตั้งไว้ก่อน รู้จุดสำคัญมันอยู่ตรงนี้ คิดว่าโยคีทั้งหลายคงจะนำธรรมะที่ได้ จากการปฏิบัติ และแนวทางที่ องค์ สมเด็จพ่อได้ทรงตรัสไว้ นำไปเป็นหลักชีวิต ประพฤติปฏิบัติต่อไปก็จะได้ทำจิตใจของเราให้สูงขึ้น ผลที่สุดเราจะสามารถเข้าสู่ พระนิพพาน ได้ตาม ความตั้งใจของเราทุกคน

             อาจารย์ก็ขอตั้งจิตอธิษฐานใจอ้างเอาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหลายในสากลโลก พร้อมทั้งความศักดิ์สิทธิ์แห่ง พระบรมธาตุ ขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น อำนาจของสัมมาเทวดาและบุญกุศลที่โยคีทั้งหลาย ได้บำเพ็ญเพียรมาในอดีตชาติก็ดี ในปัจจุบันชาติก็ดี และได้ประพฤติปฏิบัติ อยู่ในสถานที่แห่งนี้ตลอด ๑๐ วัน ขออำนาจเหล่านั้นจงรวมกันเป็นตบะเดชะ ดลบันดาลให้โยคีทั้งหลายเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสาร สมบัติ ขอกุศลส่วนนี้ จงเป็นพลวปัจจัย เป็นนิสัยตามส่ง ให้เกิดปัญญาญาณทั้งชาตินี้ และชาติหน้า ตลอดชาติอย่างยิ่ง จนถึง ความพ้นทุกข์ และตราบใดที่เวียนว่าย ตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร ทุกภพทุกชาติที่เกิดอยู่ ชื่อว่าความอดอยาก ความลำบาก ความคับแค้นใด ๆ อย่าได้มี แก่โยคีทั้งหลาย ในภพในชาติที่ตนเองได้กำเนิด อยู่นั้นโดยทั่วหน้ากันทุก ๆ ท่านเทอญ สาธุ สาธุ สาธุ .

-------------------------------------------------
            บรรยายระหว่างการปฏิบัติ ( คอร์สเข้ม ) ณ ศูนย์อุทยานธรรม อ . สันป่าตอง จ . เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๒๔ เมษายน - ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔

Top